สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
รูปภาพเรียงตามเข็มนาฬิกาเริ่มจากภาพบนสุด: การสงครามสนามเพลาะในแนวรบด้านตะวันตก; รถถังมาร์ค 4 ของอังกฤษกำลังเคลื่อนผ่านสนามเพลาะ; เรือหลวง อิรีซิสทิเบิล เรือรบหลวงแห่งราชนาวีอังกฤษกำลังอับปางหลังจากปะทะเข้ากับทุ่นระเบิด ในยุทธนาวีดาร์ดาเนลส์; ทหารอังกฤษในหน้ากากกันแก๊สกำลังคุมปืนกลวิคเกอร์ส และฝูงเครื่องบินปีกสองชั้นรุ่น อัลบาทรอส เด 3 ของเยอรมนี |
|||||||
|
|||||||
คู่ขัดแย้ง | |||||||
ฝ่ายสัมพันธมิตร: จักรวรรดิอังกฤษ |
ฝ่ายมหาอำนาจกลาง: จักรวรรดิเยอรมัน |
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: World War I หรือ First World War) หรือที่มักเรียกว่า "สงครามโลก" หรือ "มหาสงคราม (Great War) ก่อน ค.ศ. 1939 เป็นสงครามใหญ่ที่มีศูนย์กลางในยุโรประหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ถึง 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ทุกประเทศมหาอำนาจของโลกเกี่ยวพันในสงคราม[1] ซึ่งแบ่งออกเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร (มีศูนย์กลางอยู่ที่ไตรภาคี ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซีย) และฝ่ายมหาอำนาจกลาง (มีศูนย์กลางอยู่ที่ไตรพันธมิตร ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการีและอิตาลี)[2] พันธมิตรทั้งสองมีการจัดระเบียบใหม่ และขยายตัวเมื่อมีชาติเข้าสู่สงครามมากขึ้น ท้ายสุด มีทหารกว่า 70 ล้านนาย ซึ่งเป็นทหารยุโรปเสีย 60 ล้านนาย ถูกระดมเข้าสู่สงครามใหญ่ที่สุดสงครามหนึ่งในประวัติศาสตร์นี้[3][4] สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยังนับว่าเป็นความขัดแย้งวงกว้างภายในทวีปยุโรปครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามนโปเลียน[5] ทหารผู้เข้าร่วมรบเสียชีวิตเกิน 9 ล้านนาย สาเหตุหลักเพราะความร้ายแรงของพลังทำลายของอาวุธที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยไม่มีพัฒนาการในการคุ้มครองหรือความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ที่สอดคล้องกัน สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นสงครามที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์อันดับที่หก[6] สงครามนี้เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย รวมกันไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน และกรุยทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายอย่าง เช่น การปฏิวัติในชาติที่เข้าร่วมรบ[7]
สาเหตุระยะยาวของสงครามรวมถึงนโยบายต่างประเทศแบบจักรวรรดินิยมของมหาอำนาจยุโรปทั้งหลาย อย่างจักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิรัสเซีย จักรวรรดิอังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลี ส่วนการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 โดยกัฟรีโล ปรินซีป นักชาตินิยมยูโกสลาฟ เป็นชนวนเหตุใกล้ชิดของสงคราม ออสเตรีย-ฮังการีจึงยื่นคำขาดฮับสบูร์กต่อราชอาณาจักรเซอร์เบีย[8][9] พันธมิตรทั้งหลายซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อหลายทศวรรษก่อนถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ มหาอำนาจทั้งหลายจึงอยู่ในภาวะสงคราม และความขัดแย้งลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วผ่านอาณานิคมต่าง ๆ
วันที่ 28 กรกฎาคม ความขัดแย้งเปิดฉากขึ้นเมื่อออสเตรีย-ฮังการีรุกรานเซอร์เบีย[10][11] ตามด้วยการรุกรานเบลเยียม ลักเซมเบิร์กและฝรั่งเศสของเยอรมนี และการโจมตีเยอรมนีของรัสเซีย หลังการบุกโจมตีกรุงปารีสของเยอรมนีถูกหยุด แนวรบด้านตะวันตกก็เป็นการรบแห่งการสูญเสียที่อยู่กับที่ด้วยแนวสนามเพลาะซึ่งเปลี่ยนแปลงน้อยมากกระทั่ง ค.ศ. 1917 ในทางตะวันออก กองทัพรัสเซียสามารถเอาชนะกองทัพออสเตรีย-ฮังการี แต่ถูกกองทัพเยอรมันบีบให้ถอยกลับจากปรัสเซียตะวันออกและโปแลนด์ แนวรบใหม่ ๆ เปิดขึ้นเมื่อจักรวรรดิออตโตมันเข้าสู่สงครามใน ค.ศ. 1914 อิตาลีและบัลแกเรียใน ค.ศ. 1915 และโรมาเนียใน ค.ศ. 1916 จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายใน ค.ศ. 1917 และรัสเซียถอนตัวจากสงครามหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน หลังการรุกตามแนวรบด้านตะวันตกของเยอรมนีใน ค.ศ. 1918 กองทัพสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามและกองทัพสัมพันธมิตรสามารถผลักดันกองทัพเยอรมันกลับไปหลังได้รับชัยชนะติดต่อกันหลายครั้ง เยอรมนี ซึ่งประสบปัญหากับนักปฏิวัติถึงขณะนี้ ได้ตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ วันสงบศึก และชัยชนะตกเป็นของฝ่ายสัมพันธมิตร
เมื่อสงครามยุติ รัฐจักรวรรดิใหญ่สี่รัฐ อันได้แก่ จักรวรดิเยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและออตโตมัน พ่ายแพ้ทั้งทางการเมืองและทางทหารและได้สิ้นสภาพไป เยอรมนีและรัสเซียสูญเสียดินแดนไปมหาศาล ส่วนอีกสองรัฐที่เหลือนั้นล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง แผนที่ยุโรปกลางได้ถูกเขียนใหม่โดยมีประเทศขนาดเล็กเกิดใหม่หลายประเทศ[12] สันนิบาตชาติถูกก่อตั้งขึ้นด้วยหวังว่าจะป้องกันความขัดแย้งเช่นนี้มิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ลัทธิชาตินิยมยุโรปเกิดขึ้นหลังสงครามและการล่มสลายของจักรวรรดิทั้งหลาย ผลสะท้อนจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีและปัญหากับสนธิสัญญาแวร์ซาย ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นปัจจัยซึ่งนำไปสู่การปะทุของสงครามโลกครั้งที่สอง[13]
เนื้อหา
[ซ่อน]- 1 เบื้องหลัง
- 2 เส้นทางของสงคราม
- 2.1 เปิดฉากความเป็นปรปักษ์
- 2.2 สงครามขั้นต้น
- 2.3 สงครามทางทะเล
- 2.4 เขตสงครามใต้
- 2.5 แนวรบด้านตะวันออก
- 2.6 ข้อเสนอริเริ่มการเจรจาสันติภาพของฝ่ายมหาอำนาจกลาง
- 2.7 ค.ศ. 1917-1918
- 2.8 การรุกฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1918
- 2.9 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัย: ฤดูร้อนและใบไม้ร่วง ค.ศ. 1918
- 2.10 การสงบศึกและการยอมจำนน
- 2.11 ความได้เปรียบของฝ่ายสัมพันธมิตรและตำนานแทงข้างหลัง พฤศจิกายน ค.ศ. 1918
- 3 เทคโนโลยี
- 4 ภายหลังสงคราม
- 5 ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- 6 ดูเพิ่ม
- 7 ภาพยนตร์และวรรณกรรม
- 8 เชิงอรรถ
- 9 อ้างอิง
- 10 แหล่งข้อมูลอื่น
เบื้องหลัง[แก้]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาติมหาอำนาจยุโรปประสบปัญหากับการรักษาไว้ซึ่งสมดุลของอำนาจทั่วทวีปยุโรป ซึ่งเป็นผลมาจากเครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองและทหารอันซับซ้อนทั่วทั้งทวีปจนถึง ค.ศ. 1900[2] พันธมิตรเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1815 ด้วยพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างปรัสเซีย รัสเซียและออสเตรีย จากนั้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1873 นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออตโต ฟอน บิสมาร์ก เจรจาตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิระหว่างพระมหากษัตริย์ของออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและเยอรมนี ความตกลงดังกล่าวล้มเหลวเพราะออสเตรีย-ฮังการีและรัสเซียไม่สามารถตกลงกันได้ในนโยบายเหนือคาบสมุทรบอลข่าน ทิ้งให้เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีจัดตั้งพันธมิตรกันสองประเทศใน ค.ศ. 1879 เรียกว่า ทวิพันธมิตร ซึ่งถูกมองว่าเป็นวิธีการตอบโต้อิทธิพลของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่านเมื่อจักรวรรดิออตโตมันอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง[2] ใน ค.ศ. 1882 พันธมิตรนี้ขยายรวมไปถึงอิตาลีและเกิดเป็นไตรพันธมิตร[14]
หลัง ค.ศ. 1870 ความขัดแย้งในยุโรปเบี่ยงเบนไปส่วนใหญ่ผ่านเครือข่ายสนธิสัญญาที่มีการวางแผนไว้อย่างระมัดระวังระหว่างจักรวรรดิเยอรมันกับประเทศที่เหลือในยุโรปด้วยฝีมือของนายกรัฐมนตรีบิสมาร์ค เขาเน้นการทำงานเพื่อยึดรัสเซียให้อยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมนีเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามสองแนวรบกับฝรั่งเศสและรัสเซีย เมื่อจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเยอรมนี (ไกเซอร์) พันธมิตรของบิสมาร์คค่อย ๆ ถูกลดความสำคัญลง เช่น จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ทรงปฏิเสธจะต่อสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีกับรัสเซียใน ค.ศ. 1890 อีกสองปีต่อมา มีการลงนามจัดตั้งพันธมิตรฝรั่งเศส-รัสเซียเพื่อตอบโต้อำนาจของไตรพันธมิตร ใน ค.ศ. 1904 สหราชอาณาจักรประทับตราเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ซึ่งเรียกว่า ความตกลงฉันทไมตรี และใน ค.ศ. 1907 สหราชอาณาจักรและรัสเซียลงนามในอนุสัญญาอังกฤษ-รัสเซีย ระบบนี้ประสานความตกลงทวิภาคีและก่อตั้งไตรภาคี[2]
อำนาจทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตขึ้นอย่างมากหลังการรวมชาติและการสถาปนาจักรวรรดิใน ค.ศ. 1870 นับตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา รัฐบาลของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ได้ใช้ฐานนี้ในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมันขนานใหญ่ จัดตั้งขึ้นโดยพลเรือเอกอัลเฟรด ฟอน ทีร์พิทซ์ แข่งขันกับกองทัพเรืออังกฤษเพื่อชิงความเป็นเจ้านาวิกโลก[15] ผลที่ตามมาคือ ทั้งสองชาติต่างพยายามแข่งขันผลิตเรือรบขนาดใหญ่ระหว่างกัน ด้วยการปล่อยเอชเอ็มเอส ดรีดนอท ใน ค.ศ. 1906 จักรวรรดิอังกฤษได้ขยายความได้เปรียบเหนือเยอรมนีคู่แข่งอย่างสำคัญ[15] การแข่งขันอาวุธระหว่างอังกฤษและเยอรมนีได้ลุกลามไปยังส่วนที่เหลือของยุโรปในที่สุด โดยประเทศมหาอำนาจทั้งหมดทุ่มเทฐานอุตสาหกรรมของตนในการผลิตยุทโธปกรณ์และอาวุธที่จำเป็นสำหรับความขัดแย้งทั่วทวีปยุโรป[16] ระหว่าง ค.ศ. 1908 และ 1913 ค่าใช้จ่ายด้านการทหารของประเทศในยุโรปเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซนต์[17]
ออสเตรีย-ฮังการีจุดชนวนเร่งให้เกิดวิกฤตการณ์บอสเนีย ค.ศ. 1908-1909 โดยการผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ซึ่งเป็นอดีตดินแดนของจักรวรรดิออตโตมัน อย่างเป็นทางการ หลังได้ยึดครองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1878 สร้างความโกรธแค้นแก่ราชอาณาจักรเซอร์เบียและประเทศผู้ให้การสนับสนุน คือ จักรวรรดิรัสเซียซึ่งมีแนวคิดรวมชาติสลาฟ[18] การดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองของรัสเซียในภูมิภาคบั่นทอนเสถียรภาพของสันติภาพควบคู่ไปกับความแตกร้าวที่เกิดขึ้นแล้วในสิ่งที่เป็นที่รู้จักกันว่า "ถังดินปืนแห่งยุโรป"[18]
ใน ค.ศ. 1912 และ 1913 สงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่งสู้รบกันระหว่างสันนิบาตบอลข่านและจักรวรรดิออตโตมันที่เสื่อมอำนาจลง สนธิสัญญาลอนดอนอันเป็นผลของสงครามได้ลดขนาดของจักรวรรดิออตโตมันไปอีก สถาปนาอัลเบเนียเป็นรัฐเอกราช ขณะที่เพิ่มดินแดนให้แก่บัลแกเรีย เซอร์เบีย มอนเตเนโกรและกรีซ เมื่อบัลแกเรียโจมตีเซอร์เบียและกรีซเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1913 บัลแกเรียก็เสียมาซิโดเนียส่วนใหญ่ให้แก่เซอร์เบียและกรีซ และเสียเซาเทิร์นดอบรูจาให้แก่โรมาเนียในสงครามบอลข่านครั้งที่สองนาน 33 วัน ซึ่งยิ่งบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาคขึ้นไปอีก[19]
วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 กัฟรีโล ปรินซีป นักศึกษาชาวบอสเนียเซิร์บและสมาชิกบอสเนียหนุ่ม ลอบปลงพระชนม์รัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย ในซาราเยโว บอสเนีย[20] อันเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินกลยุทธ์ทางการทูตระหว่างออสเตรีย-ฮังการี เยอรมนี รัสเซีย ฝรั่งเศสและอังกฤษ เรียกว่า วิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม โดยต้องการยุติการเข้าแทรกแซงของเซอร์เบียในบอสเนีย ออสเตรีย-ฮังการีจึงยื่นคำขาดเดือนกรกฎาคมแก่เซอร์เบีย ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสิบประการซึ่งมีเจตนาทำให้ยอมรับไม่ได้ และเจตนาจุดชนวนสงครามกับเซอร์เบีย[21] เมื่อเซอร์เบียยอมตกลงในข้อเรียกร้องเพียงแปดจากสิบข้อ ออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914
จักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งไม่ต้องการปล่อยให้ออสเตรีย-ฮังการีกำจัดอิทธิพลของตนในบอลข่าน และเพื่อให้การสนับสนุนชาวเซิร์บที่อยู่ในความคุ้มครองเป็นเวลานานแล้ว จึงออกคำสั่งระดมพลบางส่วนในวันต่อมา[14] เมื่อจักรวรรดิเยอรมันเริ่มระดมพลเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ฝรั่งเศส ซึ่งโกรธแค้นจากการยึดครองอัลซาซ-ลอแรนของเยอรมนีระหว่างสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย จึงสั่งระดมพลเช่นกันเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เยอรมนีประกาศสงครามต่อรัสเซียในวันเดียวกัน[22] สหราชอาณาจักรประกาศสงครามต่อเยอรมนีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 หลัง "คำตอบซึ่งไม่น่าพอใจ" ต่อคำขาดของอังกฤษที่เรียกร้องให้เคารพความเป็นกลางของเบลเยียม[23]
เส้นทางของสงคราม[แก้]
เปิดฉากความเป็นปรปักษ์[แก้]
ความสับสนภายในฝ่ายมหาอำนาจกลาง[แก้]
ยุทธศาสตร์ของฝ่ายมหาอำนาจกลางเสียหายเพราะความผิดพลาดในการติดต่อสื่อสารกัน เยอรมนีให้คำมั่นสนับสนุนออสเตรีย-ฮังการีในการรุกรานเซอร์เบีย แต่ได้มีการตีความความหมายนี้ผิดไป แผนการจัดวางกำลังซึ่งเคยทดสอบมาแล้วในอดีตถูกเปลี่ยนใหม่ในต้น ค.ศ. 1914 แต่ยังไม่เคยทดสอบในทางปฏิบัติ ผู้นำออสเตรีย-ฮังการีเชื่อว่าเยอรมนีจะป้องกันปีกด้านทิศเหนือที่ติดกับรัสเซีย[24] อย่างไรก็ตาม เยอรมนีซึ่งเห็นว่าออสเตรีย-ฮังการีมุ่งส่งกำลังทหารส่วนใหญ่ต่อสู้กับรัสเซีย ขณะที่เยอรมนีจัดการกับฝรั่งเศส ความสับสนนี้ทำให้กองทัพออสเตรีย-ฮังการีต้องแบ่งกำลังเพื่อไปประจำทั้งแนวรบรัสเซียและเซอร์เบีย
การทัพแอฟริกา[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ เขตสงครามแอฟริกา (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)
การปะทะกันครั้งแรก ๆ ของสงครามเกิดขึ้นในกองทัพอาณานิคมอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนีในแอฟริกา วันที่ 7 สิงหาคม กองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษรุกรานโตโกแลนด์ อันเป็นดินแดนในอารักขาของเยอรมนี วันที่ 10 สิงหาคม กองทัพเยอรมันในแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้โจมตีแอฟริกาใต้ การต่อสู้ประปรายและป่าเถื่อนดำเนินต่อไปกระทั่งสงครามสิ้นสุด กองทัพอาณานิคมเยอรมันในแอฟริกาตะวันออกของเยอรมนี นำโดยพันเอก พอล เอมิล ฟอน เลทโท-วอร์เบค สู้รบในการทัพสงครามกองโจรระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและยอมจำนนสองสัปดาห์หลังสัญญาสงบศึกมีผลใช้บังคับในยุโรป[25]
การทัพเซอร์เบีย[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ การทัพเซอร์เบีย (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)
กองทัพเซอร์เบียสู้รบในยุทธการเซอร์กับออสเตรีย-ฮังการีฝ่ายรุกราน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม โดยยึดตำแหน่งป้องกันตามด้านใต้ของแม่น้ำดรินาและซาวา อีกสองสัปดาห์ถัดมา การโจมตีของออสเตรียถูกตีโต้ตอบกลับไปโดยประสบความสูญเสียอย่างหนัก นับเป็นชัยชนะสำคัญครั้งแรกของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามและทำลายความหวังของออสเตรีย-ฮังการีที่จะได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็ว ผลคือ ออสเตรียจำต้องรักษากำลังขนาดใหญ่พอสมควรบนแนวรบเซอร์เบีย พร้อมกับลดทหารด้านรัสเซียลง[26]
กองทัพเยอรมันในเบลเยียมและฝรั่งเศส[แก้]
เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้น กองทัพเยอรมัน อันประกอบด้วยเจ็ดกองทัพสนามในด้านตะวันตก เริ่มดำเนินการตามแผนชลีฟเฟินแบบปรับปรุง ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อโจมตีฝรั่งเศสอย่างรวดเร็วผ่านดินแดนประเทศเบลเยียมที่เป็นกลาง ก่อนจะเลี้ยวลงไปทางใต้เพื่อโอบล้อมกองทัพฝรั่งเศสตามพรมแดนเยอรมนี[8] แผนการดังกล่าวกำหนดให้ปีกขวาตีมาบรรจบกันที่กรุงปารีส ซึ่งเยอรมนีประสบความสำเร็จในช่วงแรก จนถึงวันที่ 12 กันยายน ฝรั่งเศสด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพอังกฤษหยุดยั้งการรุกของฝ่ายเยอรมนีได้ทางตะวันออกของกรุงปารีสที่ยุทธการมาร์นครั้งที่หนึ่ง (5-12 กันยายน) วันท้าย ๆ ของยุทธการนี้นำจุดจบมาสู่สงครามจรในด้านตะวันตก[8] การรุกเข้าไปในเยอรมนีของฝรั่งเศสซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ด้วยยุทธการมุลลูส ประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย
ส่วนในทางตะวันออก มีเพียงหนึ่งกองทัพสนามเท่านั้นที่ป้องกันปรัสเซียตะวันออก และเมื่อรัสเซียโจมตีพื้นท่ดังกล่าว ทำให้เยอรมนีต้องแบ่งกำลังที่เดิมตั้งใจจะส่งไปรบในแนวรบด้านตะวันตกมาป้องกัน เยอรมนีเอาชนะรัสเซียในการรบหลายครั้งซึ่งรวมรู้จักกันในชื่อ ยุทธการทันเนนแบร์กครั้งที่หนึ่ง (17 สิงหาคม - 2 กันยายน) แต่การแบ่งกำลังดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาความเร็วที่ไม่เพียงพอจากจุดสิ้นสุดทางรถไฟซึ่งเสนาธิการทหารเยอรมันไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ฝ่ายมหาอำนาจกลางไม่ได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็วและถูกบีบให้ทำสงครามสองแนวรบ เยอรมนีสู้รบตามรายทางไปจนถึงจุดป้องกันที่ดีในประเทศฝรั่งเศสและทำให้ทหารฝรั่งเศสและอังกฤษเสียชีวิตรวมกันมากกว่าทหารเยอรมันถึง 230,000 นาย แต่แม้ว่าจะประสบความสำเร็จดังนี้แล้วก็ตาม ปัญหาการสื่อสารและการตัดสินใจบัญชาการที่ไม่แน่นอนทำให้เยอรมนีเสียโอกาสที่จะคว้าชัยชนะอย่างรวดเร็ว[27]
เอเชียและแปซิฟิก[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ เขตสงครามเอเชียและแปซิฟิก (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)
นิวซีแลนด์ยึดครองเยอรมันซามัว (ภายหลังชื่อ ซามัวตะวันตก) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม วันที่ 11 กันยายน กองทัพรบนอกประเทศทหารและนาวิกออสเตรเลียยกพลขึ้นบกบนเกาะนอยพอมแมร์น (ภายหลังชื่อ นิวบริเตน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันนิวกินี เยอรมนียึดครองอาณานิคมไมโครนีเซียของเยอรมนี และหลังจากการล้อมชิงเต่า เมืองท่าถ่านหินของเยอรมนีในคาบสมุทรชานตงของจีน ภายในไม่กี่เดือน กองทัพสัมพันธมิตรได้ยึดครองดินแดนเยอรมนีทั้งหมดในแปซิฟิก มีเพียงผู้เข้าปล้นการค้าที่โดเดียวและดินแดนส่วนน้อยในนิวกินีที่ยังเหลืออยู่[28][29]
สงครามขั้นต้น[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ แนวรบด้านตะวันตก (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)
ยุทธวิธีทางทหารที่ใช้กันช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งล้าหลังกว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอยู่มากนัก ความก้าวหน้าเหล่านี้ทำให้สามารถพัฒนาระบบป้องกันอันน่าทึ่ง ซึ่งยุทธวิธีทางทหารอันล้าสมัยไม่สามารถเจาะทะลวงได้ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของสงคราม ลวดหนามเป็นเครื่องกีดขวางสำคัญในการยับยั้งคลื่นมนุษย์ทหารราบ ปืนใหญ่ ซึ่งมีประสิทธิภาพร้ายแรงถึงตายกว่าในคริสต์ทศวรรษ 1870 เมื่อใช้ร่วมกับปืนกลแล้ว ทำให้การเคลื่อนทัพผ่านพื้นที่เปิดนั้นเป็นไปได้ยากยิ่ง[30] ฝ่ายเยอรมนีเริ่มใช้แก๊สพิษ ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายได้นำมาใช้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าแก๊สพิษจะไม่เคยถูกพิสูจน์ว่าเป็นปัจจัยเด็ดขาดในการเอาชนะศึก แต่ผลกระทบของแก๊สพิษนั้นโหดร้าย ทำให้ผู้ได้รับแก๊สเสียชีวิตอย่างช้า ๆ และทรมาน และแก๊สพิษได้กลายมาเป็นความน่าสะพรึงกลัวที่เป็นที่หวาดกลัวกันและเป็นที่จดจำดีที่สุดของสงคราม ผู้บัญชาการทั้งสองฝ่ายล้มเหลวที่จะพัฒนายุทธวิธีเจาะที่ตั้งสนามเพลาะโดยไม่ประสบความสูญเสียอย่างหนัก
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง เทคโนโลยีเริ่มผลิตอาวุธเพื่อการรุกแบบใหม่ อย่างเช่น รถถัง[31] อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้ใช้หลัก และเยอรมนีวางกำลังรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรที่ยึดมาได้และรถถังที่ตนออกแบบเองอีกจำนวนหนึ่ง ภายหลังยุทธการมาร์นครั้งที่หนึ่ง ทั้งฝ่ายไตรภาคีและเยอรมนีเริ่มอุบายการตีโอบปีกของกองทัพฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเรียกกันว่า "การแข่งขันสู่ทะเล" อังกฤษและฝรั่งเศสพบว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับกองทัพเยอรมันในสนามเพลาะเป็นแนวยาวตั้งแต่แคว้นลอร์เรนของฝรั่งเศสไปจนถึงชายฝั่งเบลเยียม[8] อังกฤษและฝรั่งเศสพยายามจะเป็นฝ่ายริเริ่มบุกก่อน ขณะที่เยอรมนีตั้งรับอย่างเข้มแข็งในดินแดนยึดครอง ผลที่สุดคือ สนามเพลาะเยอรมันถูกสร้างขึ้นดีกว่าสนามเพลาะของฝ่ายตรงข้ามมาก ขณะที่สนามเพลาะของอังกฤษ-ฝรั่งเศสมีเจตนาจะใช้เป็นแนวชั่วคราวก่อนที่กองทัพจะตีผ่านแนวป้องกันของเยอรมนีเท่านั้น[32] ทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามทำลายสถานการณ์คุมเชิงกันอยู่ด้วยการนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้มากขึ้น วันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1915 ในยุทธการอีแปรครั้งที่สอง ฝ่ายเยอรมนีใช้แก๊สคลอรีนเป็นครั้งแรกบนแนวรบด้านตะวันตก อันเป็นการละเมิดอนุสัญญากรุงเฮก กองทัพอัลจีเรียถอยทัพเมื่อถูกรมแก๊สและเปิดช่องว่างขนาดหกกิโลเมตรในแนวรบสัมพันธมิตรซึ่งฝ่ายเยอรมนีเข้ายึดครองอย่างรวดเร็ว กองทัพแคนาดาสามารถอุดรอยแตกดังกล่าวได้ในยุทธการครั้งเดียวกัน[33] และในยุทธการอีแปรครั้งที่สาม กองทัพแคนาดาและแอนแซ็กได้ยึดครองหมู่บ้านพาสเชลเดล
วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1916 เป็นวันที่กองทัพอังกฤษสูญเสียกำลังพลไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ สูญเสียรวม 57,470 นาย รวมทั้งเสียชีวิต 19,240 นาย ในวันแรกของยุทธการแม่น้ำซอมม์ ความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชั่วโมงแรกของการโจมตี การรุกซอมม์ทำให้กองทัพอังกฤษสูญเสียทหารไปทั้งสิ้นเกือบครึ่งล้านนาย[34]
ทั้งสองฝ่ายนั้นพิสูจน์แล้วว่าไม่อาจตัดสินผลชี้ขาดเป็นเวลากว่าสองปี แม้ว่าการปฏิบัติยืดเยื้อของเยอรมนีที่ป้อมแวร์เดิงตลอด ค.ศ. 1916[35] ประกอบกับการนองเลือดที่แม่น้ำซอมม์ ทำให้กองทัพฝรั่งเศสที่เหนื่อยล้าใกล้ล่มสลายเต็มที ความพยายามอันไร้ผลในการโจมตีทางด้านหน้าทำให้กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสสูญเสียกำลังพลไปสูงลิบ และนำไปสู่การขัดคำสั่งอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการรุกเนวิลล์[36]
ตลอด ค.ศ. 1915-1917 จักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสประสบความสูญเสียหนักกว่ากองทัพเยอรมันมากนัก จากสถานะทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ทั้งสองฝ่ายเลือก ซึ่งในทางยุทธศาสตร์ ขณะที่ฝ่ายเยอรมันโจมตีหลักเพียงครั้งเดียวที่แวร์เดิง ฝ่ายสัมพันธมิตรกลับโจมตีผ่านแนวของฝ่ายเยอรมันหลายครั้ง ในทางยุทธวิธี หลักการ "การป้องกันยืดหยุ่น" ของผู้บัญชาการเยอรมนี อีริช ลูเดนดอร์ฟ เหมาะสมกับการสงครามสนามเพลาะ การป้องกันแบบนี้มีที่มั่นด้านเบาบาง ส่วนที่ตั้งหลักนั้นอยู่ห่างออกไปพ้นพิสัยปืนใหญ่ ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตีโต้ตอบอย่างฉับพลันและทรงพลัง[37][38]
ณ ช่วงใดช่วงหนึ่ง มีทหารจากอังกฤษและเครือจักรภพประจำอยู่ที่แนวรบด้านตะวันตกราว 1.1 ถึง 1.2 ล้านนายตลอดเวลา[39] ทหารกว่าหนึ่งพันกองพัน ครอบครองพื้นที่เป็นแนวยาวจากทะเลเหนือจนถึงแม่น้ำออร์น และใช้ระบบหมุนเวียนสี่ขั้นนานหนึ่งเดือน เว้นแต่ขณะอยู่ระหว่างการโจมตี แนวรบนั้นเป็นแนวสนามเพลาะยาวกว่า 9.600 กิโลเมตร แต่ละกองพันจะประจำอยู่ในพื้นที่เป็นเวลาราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะถูกส่งกลับไปยังเส้นทางส่งกำลังบำรุงและจากนั้นถอยกลับไปยังแนวสนับสนุนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนเปลี่ยนเวน ซึ่งใช้กันมากในเขตโพเพริงและอแมนส์ของเบลเยียม
ในยุทธการแอเรซ ค.ศ. 1917 ความสำเร็จทางทหารสำคัญของอังกฤษเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ สามารถยึดเนินวีมีได้โดยกองทัพแคนาดาภายใต้การบังคับบัญชาของเซอร์อาเธอร์ คูรี และจูเลียน บียง ฝ่ายโจมตีสามารถรุกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จากนั้นก็ทำการเสริมกำลังได้อย่างรวดเร็วและยึดครองสันเขาซึ่งป้องกันที่ราบบูไอ ซึ่งอุดมไปด้วยถ่านหิน[40][41]
สงครามทางทะเล[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ สงครามทางทะเลในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
เมื่อสงครามเริ่มต้น จักรวรรดิเยอรมันมีเรือลาดตระเวนกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งเรือบางลำในจำนวนนี้ได้ถูกใช้โจมตีการเดินเรือพาณิชย์ฝ่ายสัมพันธมิตรต่อมา ฝ่ายราชนาวีอังกฤษได้พยายามตามล่าเรือรบเหล่านี้อย่างเป็นระบบ แต่ก็ยังอับอายจากความไร้ความสามารถในการคุ้มครองการเดินเรือฝ่ายสัมพันธมิตร ตัวอย่างเช่น เรือลาดตระเวนเบาเยอรมนี เอสเอ็มเอส เอมเดน อันเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือเอเชียตะวันออก ประจำการอยู่ในเมืองท่าชิงเตา ได้ยึดหรือทำลายเรือพ่อค้า 15 ลำ ตลอดจนเรือลาดตระเวนเบารัสเซียและเรือพิฆาตฝรั่งเศสอย่างละลำด้วย อย่างไรก็ตาม กองเรือเอเชียตะวันออกของเยอรมนีส่วนใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะสองลำ เรือลาดตระเวนเบาสองลำ และเรือขนส่งสองลำ ไม่ได้รับคำสั่งให้โจมตีการเดินเรือแต่อย่างใด และกำลังอยู่ระหว่างแล่นกลับเยอรมนีเมื่อกองเรือเผชิญกับเรือรบฝรั่งเศส กองเรือเยอรมัน พร้อมด้วยเรือเดรสเดน จมเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะได้สองลำในยุทธนาวีโคโรเนล หากกองเรือดังกล่าวเกือบถูกทำลายสิ้นที่ยุทธนาวีหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1914 โดยมีเพียงเรือเดรสเดนและเรือเล็กอีกไม่กี่ลำเท่านั้นที่สามารถหลบหนีไปได้[42]
หลังสงครามปะทุไม่นาน อังกฤษก็ได้ทำการปิดล้อมทางทะเลต่อเยอรมนี ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เห็นผลแล้วว่ามีประสิทธิภาพ โดยการปิดล้อมได้ตัดเสบียงของทั้งทหารและพลเรือนที่สำคัญของเยอรมนี แม้ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวจะเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติซึ่งได้รับการยอมรับและประมวลขึ้นผ่านความตกลงระหว่างประเทศหลายครั้งในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมาก็ตาม[43] กองทัพเรืออังกฤษยังได้วางทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำสากลเพื่อป้องกันมิให้เรือลำใดออกสู่เขตมหาสมุทร ซึ่งเป็นอันตรายแม้แต่กับเรือของประเทศที่เป็นกลาง[44] และเนื่องจากอังกฤษได้รับปฏิกิริยาจากยุทธวิธีดังกล่าวเพียงเล็กน้อย เยอรมนีจึงคาดหวังว่าสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขตของตนจะได้รับปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยแบบเดียวกัน[45]
ค.ศ. 1916 ยุทธนาวีจัตแลนด์ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นยุทธนาวีครั้งใหญ่ที่สุดในสงคราม และครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการปะทะกันเต็มอัตราศึกของกองทัพเรือทั้งสองฝ่าย ซึ่งกินเวลาสองวัน คือ 31 พฤษภาคมและ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1916 ในทะเลเหนือนอกคาบสมุทรจัตแลนด์ กองเรือทะเลหลวงของกองทัพเรือเยอรมัน ภายใต้บังคับบัญชาของพลเรือโทไรนาร์ด เชร์ ประจัญกับกองเรือหลวงของราชนาวีอังกฤษภายใต้การนำของพลเรือเอก เซอร์จอห์น เจลลิโค ผลของยุทธนาวีนี้ไม่มีฝ่ายใดแพ้หรือชนะ เมื่อฝ่ายเยอรมันสามารถหลบหนีจากกองเรืออังกฤษที่มีกำลังเหนือกว่า และสร้างความเสียหายแก่กองเรืออังกฤษมากกว่าที่ตนได้รับ แต่ในทางยุทธศาสตร์แล้ว ฝ่ายอังกฤษแสดงสิทธิ์ในการควบคุมทะเล และกองเรือผิวน้ำส่วนใหญ่ของเยอรมนีถูกกักอยู่แต่ในท่ากระทั่งสงครามยุติ[46]
เรืออูของเยอรมนีพยายามตัดเส้นทางเสบียงระหว่างอเมริกาเหนือกับอังกฤษ[47] ธรรมชาติของสงครามเรือดำน้ำ หมายความว่า การโจมตีมักมาโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ทำให้ลูกเรือสินค้ามีหวังรอดชีวิตน้อยมาก[47][48] สหรัฐอเมริกาประท้วง และเยอรมนีเปลี่ยนกฎการปะทะ หลังการจมเรือโดยสาร อาร์เอ็มเอส ลูซิตาเนีย อันฉาวโฉ่ใน ค.ศ. 1915 เยอรมนีสัญญาว่าจะไม่เลือกโจมตีเรือเดินสมุทรอีก ขณะที่อังกฤษติดอาวุธเรือสินค้าของตน และจัดให้อยู่นอกเหนือการคุ้มครองของ "กฎเรือลาดตระเวน" ซึ่งกำหนดให้มีการเตือนภัยและจัดวางลูกเรือไว้ใน "ที่ปลอดภัย" อันเป็นมาตรฐานซึ่งเรือช่วยชีวิตไม่เป็นไปตามนี้[49] จนในที่สุด ต้น ค.ศ. 1917 เยอรมนีปรับใช้นโยบายสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขต เมื่อตระหนักว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่สงครามในที่สุด[47][50] เยอรมนีพยายามจะจำกัดเส้นทางเดินเรือของฝ่ายสัมพันธมิตรก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะสามารถขนส่งกองทัพขนาดใหญ่ข้ามทะเล แต่เยอรมนีสามารถใช้เรืออูพิสัยไกลออกปฏิบัติการได้เพียงห้าลำ จึงมีผลจำกัด[47]
ภัยจากเรืออูนั้นเริ่มลดลงใน ค.ศ. 1917 เมื่อเรือพาณิชย์ของอังกฤษเริ่มเดินทางในขบวนเรือคุ้มกัน (convoy) ที่มีเรือพิฆาตนำ ยุทธวิธีดังกล่าวทำให้เรืออูค้นหาเป้าหมายยาก และทำให้การสูญเสียลดลงอย่างสำคัญ หลังจากเริ่มมีการใช้ไฮโดรโฟนและระเบิดน้ำลึก ทำให้เรือพิฆาตที่เสริมเข้ามาอาจโจมตีเรือดำน้ำที่อยู่ใต้น้ำได้โดยมีหวังสำเร็จอยู่บ้าง ขบวนเรือคุ้มกันดังกล่าวทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งเสบียง เพราะเรือต้องรอให้ขบวนเรือคุ้มกันมารวมกันครบก่อน ทางแก้ปัญหาความล่าช้านี้ คือ โครงการอันกว้างขวางในการสร้างเรือขนส่งสินค้าแบบใหม่ ส่วนเรือขนส่งทหารนั้นเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าเรือดำน้ำและไม่เดินทางไปกับขบวนเรือคุ้มกันในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ[51] เรืออูจมเรือฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่า 5,000 ลำ โดยมีเรือดำน้ำถูกทำลายไป 199 ลำ[52]
เขตสงครามใต้[แก้]
บอลข่าน[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ เขตสงครามบอลข่าน (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) และ แนวรบมาซิโดเนีย (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการีจึงสามารถแบ่งกองทัพโจมตีเซอร์เบียได้เพียงหนึ่งในสาม หลังประสบความสูญเสียอย่างหนัก ออสเตรียก็สามารถยึดครองเมืองหลวงเบลเกรดของเซอร์เบียได้ช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การตีโต้ตอบของเซอร์เบียในยุทธการคอลูบารา ได้ขับออสเตรียออกจากประเทศเมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1914 ในช่วงสิบเดือนแรกของ ค.ศ. 1915 ออสเตรีย-ฮังการีใช้ทหารกองหนุนส่วนใหญ่สู้รบกับอิตาลี แต่ทูตเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีสามารถชักชวนให้บัลแกเรียเข้าร่วมโจมตีเซอร์เบีย จังหวัดสโลวีเนีย โครเอเชียและบอสเนียของออสเตรีย-ฮังการีเป็นพื้นที่จัดเตรียมทหารให้แก่ออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งรุกรานเซอร์เบียเช่นเดียวกับสู้รบกับรัสเซียและอิตาลี มอนเตเนโกรวางตัวเป็นพันธมิตรกับเซอร์เบีย[54]
เซอร์เบียถูกยึดครองนานกว่าหนึ่งเดือนเล็กน้อย เมื่อฝ่ายมหาอำนาจกลางเริ่มโจมตีทางเหนือตั้งแต่เดือนตุลาคม อีกสี่วันถัดมา บัลแกเรียร่วมโจมตีจากทางตะวันออก กองทัพเซอร์เบีย ซึ่งสู้รบบนสองแนวรบและแน่นอนว่าต้องเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ ได้ถอยทัพไปยังอัลเบเนีย และหยุดยั้งเพียงครั้งเดียวเพื่อป้องกันการโจมตีของบัลแกเรีย ชาวเซิร์บประสบความพ่ายแพ้ในยุทธการโคโซโว มอนเตเนโกรช่วยคุ้มกันการล่าถอยของเซอร์เบียไปยังชายฝั่งเอเดรียติกในยุทธการมอยคอแวทส เมื่อวันที่ 6-7 มกราคม ค.ศ. 1916 แต่สุดท้ายก็ส่งผลให้ออสเตรียยึดครองมอนเตเนโกรเช่นเดียวกัน กองทัพเซอร์เบียถูกอพยพทางเรือไปยังกรีซ[55]
ปลาย ค.ศ. 1915 กองทัพฝรั่งเศส-อังกฤษยกพลขึ้นบกที่ซาโลนิกาของกรีซ เพื่อเสนอความช่วยเหลือและกดดันให้รัฐบาลกรีซประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง โชคไม่เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อพระมหากษัตริย์กรีกผู้ทรงนิยมเยอรมนี พระเจ้าคอนแสตนตินที่ 1 ทรงปลดรัฐบาลนิยมสัมพันธมิตรของเอเลฟเทริออส เวนิเซลอสพ้นจากตำแหน่ง ก่อนที่กองทัพรบนอกประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรจะมาถึง[56] ความร้าวฉานระหว่างพระมหากษัตริย์กรีซและฝ่ายสัมพันธมิตรพอกพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้กรีซถูกแบ่งแยกเป็นภูมิภาคซึ่งยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลเฉพาะกาลใหม่ของเวนิเซลอสในซาโลนิกา หลังการเจรจาทางการทูตอย่างเข้มข้นและการเผชิญหน้าด้วยอาวุธในกรุงเอเธนส์ระหว่างกองทัพสัมพันธมิตรและฝ่ายนิยมกษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์กรีซต้องสละราชสมบัติ และพระราชโอรสพระองค์ที่สอง อเล็กซานเดอร์ เสด็จขึ้นครองราชย์แทน เวนิเซลอสเดินทางกลับมายังกรุงเอเธนส์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 และกรีซ ซึ่งรวมเป็นหนึ่งอีกครั้ง เข้าร่วมสงครามอย่างเป็นทางการโดยอยู่ฝ่ายเดียวกับฝ่ายสัมพันธมิตร กองทัพกรีซทั้งหมดถูกระดมและเริ่มเข้าร่วมในปฏิบัติการทางทหารต่อฝ่ายมหาอำนาจกลางบนแนวรบมาซิโดเนีย
หลังจากถูกยึดครอง เซอร์เบียถูกแบ่งออกระหว่างออสเตรีย-ฮังการีและบัลแกเรีย ใน ค.ศ. 1917 ชาวเซิร์บได้ก่อการกำเริบโทพลิคาขึ้น และส่งผลให้พื้นที่ระหว่างเทือกเขาโกบาโอนิคและแม่น้ำเซาท์โมราวาถูกปลดปล่อยชั่วคราว แต่การก่อการกำเริบดังกล่าวถูกบดขยี้โดยกองทัพร่วมบัลแกเรียและออสเตรียเมื่อปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917
แนวรบมาซิโดเนียส่วนใหญ่ไม่มีพัฒนาการ กองทัพเซอร์เบียยึดคืนบางส่วนของมาซิโดเนียโดยยึดบิโตลาคืนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 และเฉพาะเมื่อสงครามใกล้ยุติลงแล้วเท่านั้นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถโจมตีผ่านได้ หลังกองทัพเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีส่วนใหญ่ถอนกำลังออกไปแล้ว กองทัพบัลแกเรียประสบความพ่ายแพ้เพียงครั้งเดียวในสงครามที่ยุทธการโดโบรโพล แต่อีกไม่กี่วันให้หลัง บัลแกเรียก็สามารถเอาชนะกองทัพอังกฤษและกรีกได้อย่างเด็ดขาดที่ยุทธการดอเรียน แต่เพื่อป้องกันการถูกยึดครอง บัลแกเรียได้ลงนามการสงบศึกเมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1918[57] ฮินเดนบูร์กและลูเดนดอร์ฟสรุปว่าสมดุลทางยุทธศาสตร์และปฏิบัติการเอียงไปข้างฝ่ายสัมพันธมิตรแล้วอย่างไม่มีข้อสงสัย และหนึ่งวันหลังบัลแกเรียออกจากสงคราม ระหว่างการประชุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ยืนยันให้มีการเจรจาสันติภาพในทันที[58]
การหายไปของแนวรบมาซิโดเนียหมายความว่าถนนสู่บูดาเปสต์และเวียนนาเปิดกว้างสำหรับกองทัพขนาดกำลังพล 670,000 นาย ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกเฟรนเช เดเปเร เมื่อบัลแกเรียยอมจำนน ทำให้ฝ่ายมหาอำนาจกลางสูญเสียทหารราบ 278 กองพัน และปืนใหญ่ 1,500 กระบอก ซึ่งเทียบเท่ากับกองพลของเยอรมนีราว 25 ถึง 30 กองพล ซึ่งเคยยึดแนวดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้[59] กองบัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีตัดสินใจส่ง 7 กองพลทหารราบ และ 1 กองพลทหารม้าไปยังแนวหน้า แต่กำลังเหล่านี้ไม่เพียงพอจะสถาปนาแนวรบขึ้นมาใหม่ได้อีก[59]
จักรวรรดิออตโตมัน[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ เขตสงครามตะวันออกกลางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
จักรวรรดิออตโตมันเข้าร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยได้ลงนามเป็นพันธมิตรออตโตมัน-เยอรมันอย่างลับ ๆ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งได้ภัยคุกคามต่อดินแดนคอเคซัสของรัสเซีย และการติดต่อคมนาคมของอังกฤษกับอินเดียผ่านทางคลองสุเอซ อังกฤษและฝรั่งเศสได้เปิดแนวรบโพ้นทะเลด้วยการทัพกัลลิโปลีและการทัพเมโสโปเตเมีย ที่กัลลิโปลี จักรวรรดิออตโตมันสามารถขับไล่กองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศสและเหล่ากองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ แต่การณ์กลับตรงกันข้ามในเมโสโปเตเมีย ซึ่งจักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้อย่างหายนะจากการล้อมคุท (ค.ศ. 1915-16) กองทัพจักรวรรดิอังกฤษรวบรวมทัพใหม่และสามารถยึดกรุงแบกแดดได้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917
ห่างไปทางตะวันตก คลองสุเอซได้รับการป้องกันอย่างเป็นผลจากการโจมตีของออตโตมันใน ค.ศ. 1915 และ 1916 ในเดือนสิงหาคม กองทัพเยอรมันและออตโตมันพ่ายแพ้ที่ยุทธการโรมานี หลังชัยชนะนี้ กองทัพจักรวรรดิอังกฤษรุกคืบข้ามคาบสมุทรไซนาย ผลักดันกองทัพออตโตมันให้ถอยกลับไปในยุทธการแมกดาบา (Magdhaba) ในเดือนธันวาคมและยุทธการราฟาตรงชายแดนระหว่างไซนายของอียิปต์และปาเลสไตน์ของออตโตมันในเดือนมกราคม ค.ศ. 1917 ในเดือนมีนาคมและเมษายน ที่ยุทธการกาซาครั้งแรกและครั้งที่สอง กองทัพเยอรมันและออตโตมันหยุดการรุกคืบ แต่ในปลายเดือนตุลาคม การทัพไซนายและปาเลสไตน์ดำเนินต่อ เมื่อกองทัพรบนอกประเทศอียิปต์ของอัลเลนบีชนะยุทธการเบียร์เชบา สองกองทัพออตโตมันพ่ายแพ้อีกไม่กี่สัปดาห์ให้หลังที่ยุทธการสันเขามักอาร์ (Maghar Ridge) และต้นเดือนธันวาคม เยรูซาเลมถูกยึดได้หลังกองทัพออตโตมันอีกกองทัพหนึ่งพ่ายแพ้ที่ยุทธการเยรูซาเล็ม พอถึงช่วงนี้ ฟรีดริช ไฟรแฮร์ เครสส์ ฟอน เครสเซนสไตน์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพที่ 8 และแทนที่ด้วย Cevat Çobanlı และอีกไม่กี่เดือนให้หลัง ผู้บัญชาการกองทัพออตโตมันในปาเลสไตน์ อีริช ฟอน ฟัลเคนไฮน์ ถูกแทนที่ด้วยออทโท ลีมัน ฟอน ซันเดอร์ส
โดยปกติแล้วกองทัพรัสเซียด้านคอเคซัสเป็นกองทัพที่ดีที่สุด เอนเวอร์ ปาชา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพออตโตมัน มีความทะเยอทะยานและใฝ่ฝันจะยึดครองเอเชียกลางอีกครั้ง และดินแดนที่เคยเสียให้แก่รัสเซียในอดีต แต่เขาเป็นผู้บัญชาการที่ไม่มีความสามารถ[60] เขาออกคำสั่งโจมตีรัสเซียในคอเคซัสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1914 โดยมีกำลังพล 100,000 นาย เขายืนกรานการโจมตีทางด้านหน้าต่อที่ตั้งของรัสเซียที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาในฤดูหนาว ซึ่งทำให้สูญเสียกำลังพลไปถึง 86% ในยุทธการซาริคามิส[61]
ผู้บัญชาการรัสเซียระหว่าง ค.ศ. 1915-1916 พลเอกนิโคไล ยูเดนนิช สามารถขับไล่พวกเติร์กให้ออกไปจากเขตเทือกเขาคอเคซัสตอนใต้ส่วนใหญ่โดยได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ใน ค.ศ. 1917 แกรนด์ดยุกนิโคลัสเข้าบัญชาการกองทัพรัสเซียแนวรบคอเคซัส[61] เขาวางแผนสร้างทางรถไฟจากจอร์เจียไปยังดินแดนยึดครอง เพื่อที่ว่ากองทัพรัสเซียจะมีเสบียงเพียงพอในการรุกครั้งใหม่ใน ค.ศ. 1917 อย่างไรก็ตาม เดือนมีนาคม ค.ศ. 1917 พระเจ้าซาร์ถูกโค่นล้มหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ และกองทัพรัสเซียคอเคซัสเริ่มแตกออกจากกัน
ด้วยการยุยงของสำนักอาหรับของสำนักงานต่างประเทศและเครือจักรภพของอังกฤษ การปฏิวัติอาหรับจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916 ด้วย ยุทธการเมกกะ โดย ชารีฟ ฮัสเซน แห่งเมกกะ และจบลงด้วยการยอมจำนนของจักรวรรดิออตโตมันที่ดามัสกัส ฟาครี ปาชา ผู้บัญชาการออตโตมันที่เมดินะ ทำการรบต้านทานเป็นเวลากว่าสองปีครึ่งระหว่างการล้อมเมดินะ[62]
ตามพรมแดนลิเบียของอิตาลีและอียิปต์ของอังกฤษ ชนเผ่าเซนุสซี ซึ่งได้รับการปลุกปั่นยุยงและติดอาวุธโดยพวกเติร์ก ทำสงครามกองโจรขนาดเล็กต่อกองทัพสัมพันธมิตร ฝ่ายอังกฤษถูกบีบให้ต้องแบ่งทหาร 12,000 นายมาต่อสู้ในการทัพเซนุสซี จนกระทั่งกบฏเหล่านี้ถูกบดขยี้ในที่สุดเมื่อกลาง ค.ศ. 1916[63]
การเข้าร่วมของอิตาลี[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ การทัพอิตาลี (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)
อิตาลีเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีตั้งแต่ ค.ศ. 1882 โดยเป็นภาคีของไตรพันธมิตร อย่างไรก็ตาม อิตาลีนั้นมีเจตนาของตนบนพื้นที่ของออสเตรียในเตรนตีโน อิสเตรียและดัลมาเทีย อิตาลีได้แอบทำสนธิสัญญาอย่างลับ ๆ กับฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1902 ซึ่งเป็นการลบล้างพันธมิตรเก่าอย่างสิ้นเชิง ในตอนต้นของสงคราม อิตาลีปฏิเสธที่จะส่งทำเข้าร่วมรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง โดยให้เหตุผลว่าไตรพันธมิตรเป็นพันธมิตรป้องกัน แต่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกลับเป็นผู้เปิดฉากสงครามก่อนเสียเอง รัฐบาลออสเตรีย-ฮังการีเริ่มเจรจาเพื่อพยายามจะให้อิตาลีวางตัวเป็นกลางในสงคราม โดยเสนออาณานิคมตูนิเซียของฝรั่งเศสให้เป็นการตอบแทน ซึ่งทางฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยื่นข้อเสนอซ้อนโดยสัญญาว่าจะอิตาลีจะได้ไทรอลใต้ จูเลียนมาร์ช และดินแดนบนชายฝั่งดัลมาเทียหลังออสเตรีย-ฮังการีพ่ายแพ้ ข้อเสนอดังกล่าวทำให้เป็นทางการในสนธิสัญญาลอนดอน หลังถูกกระตุ้นจากการรุกรานตุรกีของฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1915 อิตาลีเข้าร่วมกับไตรภาคีและประกาศสงครามต่อออสเตรีย-ฮังการีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม และประกาศสงครามต่อเยอรมนีอีกสิบห้าเดือนให้หลัง
แม้ว่าในทางการทหาร อิตาลีจะมีความเหนือกว่าด้านกำลังพลก็ตาม แต่ข้อได้เปรียบดังกล่าวเสียไป ไม่เพียงแต่มีสาเหตุจากลักษระภูมิประเทศสลับซับซ้อนที่เกิดการสู้รบขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ใช้ด้วย จอมพลลุยจิ คาดอร์นา ผู้เสนอการโจมตีทางด้านหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ใฝ่ฝันว่าจะตีเข้าไปสู่ที่ราบสูงสโลวีเนีย ตีเมืองลูบลิยานา และคุกคามกรุงเวียนนา มันเป็นแผนการสมัยนโปเลียน ซึ่งไม่มีโอกาสสำเร็จแท้จริงเลยในยุคของลวดหนาม ปืนกลและการยิงปืนใหญ่ทางอ้อม ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นเนินและภูเขา
บนแนวรบเตรนติโน ออสเตรีย-ฮังการีใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศแบบภูเขา ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตั้งรับ หลังจากการล่าถอยทางยุทธศาสตร์ในช่วงแรก ส่วนใหญ่แนวรบก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกเลย ขณะที่ทั้งสองฝ่ายสู้รบในระยะประชิดตัวอันขมขื่นตลอดฤดูร้อน ออสเตรีย-ฮังการีตีโต้ตอบที่อัสซิอาโก มุ่งหน้าไปยังเวโรนาและปาดัว ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1916 แต่มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย
เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1915 กองทัพอิตาลีภายใต้การบังคับบัญชาของคาดอร์นา ได้โจมตีประมาณสิบเอ็ดครั้งบนแนวไอซอนโซตามแนวของแม่น้ำชื่อเดียวกัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของตรีเอสเต ซึ่งการโจมตีทั้งหมดก็ถูกขับไล่โดยกองทัพออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งยึดภูมิประเทศที่สูงกว่า ในฤดูร้อน ค.ศ. 1916 กองทัพอิตาลีสามารถตีเมืองกอร์ริซเซียได้ หากหลังจากชัยชนะย่อยครั้งนี้ แนวรบนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี แม้อิตาลีจะโจมตีอีกหลายครั้ง เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1917 ทหารออสเตรีย-ฮังการีได้รับกำลังเสริมขนาดใหญ่จากเยอรมนี ฝ่ายมหาอำนาจกลางเริ่มการรุกเด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1917 โดยมีทหารเยอรมันเป็นหัวหอก ฝ่ายมหาอำนาจกลางได้รับชัยชนะที่คาปอร์เรตโต กองทัพอิตาลีแตกพ่ายและล่าถอยเป็นระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร จึงสามารถจัดระเบียบใหม่ได้ และยึดแนวที่แม่น้ำเปียเว และเนื่องจากอิตาลีสูญเสียอย่างหนักในยุทธการคาปอร์เรตโต รัฐบาลอิตาลีจึงสั่งให้ชายอายุต่ำกว่า 18 ปีทุกคนเข้าประจำการ ใน ค.ศ. 1918 ออสเตรีย-ฮังการีไม่สามารถตีผ่านแนวดังกล่าวได้ ในยุทธการหลายครั้งตามแม่น้ำเปียเว และสุดท้ายก็พ่ายแพ้ราบคาบในยุทธการวิตโตริโอ วีนีโตในเดือนตุลาคมปีนั้น ออสเตรีย-ฮังการียอมจำนนในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918[64][65][66]
การเข้าร่วมของโรมาเนีย[แก้]
โรมาเนียได้เป็นพันธมิตรกับฝ่ายมหาอำนาจกลางตั้งแต่ ค.ศ. 1882 อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามเริ่มต้น โรมาเนียได้ประกาศตนเป็นกลาง โดยให้เหตุผลว่าออสเตรีย-ฮังการีเองที่เป็นฝ่ายประกาศสงครามต่อเซอร์เบีย และโรมาเนียไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องเข้าสู่สงคราม เมื่อฝ่ายไตรภาคีให้สัญญาว่าจะยกดินแดนขนาดใหญ่ทางตะวันออกของฮังการี (ทรานซิลเวเนียและบานัท) ซึ่งมีประชากรโรมาเนียขนาดใหญ่อาศัยอยู่ ให้แก่โรมาเนีย แลกเปลี่ยนกับที่โรมาเนียต้องประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง รัฐบาลโรมาเนียจึงสละความเป็นกลาง และวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1916 กองทัพโรมาเนียได้เปิดฉากโจมตีออสเตรีย-ฮังการี โดยได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัสเซีย การรุกของโรมาเนียประสบความสำเร็จในช่วงต้น โดยสามารถผลักดันทหารออสเตรีย-ฮังการีในทรานซิลเวเนียออกไปได้ แต่การตีโต้ตอบของฝ่ายมหาอำนาจกลางขับกองทัพรัสเซีย-โรมาเนีย และเสียกรุงบูคาเรสต์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1916 การสู้รบในมอลโดวาดำเนินต่อไปใน ค.ศ. 1917 ซึ่งจบลงด้วยการคุมเชิงกันที่มีราคาแพงสำหรับฝ่ายมหาอำนาจกลาง[67][68] เมื่อรัสเซียถอนตัวจากสงครามในปลาย ค.ศ. 1917 จากผลของการปฏิวัติเดือนตุลาคม โรมาเนียถูกบีบให้ลงนามในการสงบศึกกับฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1917
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 กองทัพโรมาเนียสถาปนาการควบคุมเหนือเบสซาราเบีย เมื่อกองทัพรัสเซียละทิ้งดินแดนดังกล่าว แม้ว่าสนธิสัญญาถูกลงนามโดยรัฐบาลโรมาเนียและบอลเชวิครัสเซียหลังการประชุมระหว่างวันที่ 5-9 มีนาคม ค.ศ. 1918 ที่ให้กองทัพโรมาเนียถอนกำลังออกจากเบสซาราเบียภายในสองเดือน วันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1918 โรมาเนียผนวกเบสซาราเบียเข้าเป็นดินแดนของตน โดยอาศัยอำนาจอย่างเป็นทางการของมติที่ผ่านโดยสภานิติบัญญัติท้องถิ่นของดินแดนในการรวมเข้ากับโรมาเนีย
โรมาเนียยุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1918 ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว โรมาเนียมีข้อผูกมัดจะยุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางและยกดินแดนบางส่วนให้แก่ออสเตรีย-ฮังการี ยุติการควบคุมช่องเขาบางแห่งในเทือกเขาคาร์พาเธียนและยกสัมปทานน้ำมันแก่เยอรมนี ในการแลกเปลี่ยน ฝ่ายมหาอำนาจกลางจะรับรองเอกราชของโรมาเนียเหนือเบสซาราเบีย สนธิสัญญาดังกล่าวถูกละทิ้งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1918 และโรมาเนียเข้าสู่สงครามอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 วันรุ่งขึ้น สนธิสัญญาบูคาเรสต์ถูกทำให้เป็นโมฆะตามเงื่อนไขของการสงบศึกที่คองเปียญ[69][70] มีการประเมินว่าชาวโรมาเนียทั้งทหารและพลเรือนที่เสียชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1914 และ 1918 ภายในพรมแดนปัจจุบัน มีถึง 748,000 คน[71]
บทบาทของอินเดีย[แก้]
-
ดูเพิ่มที่ สงครามอังกฤษ-อัฟกานิสถานครั้งที่สาม และ แผนสมคบฮินดู-เยอรมัน
สงครามเริ่มต้นโดยสหราชอาณาจักรได้รับความจงรักภักดีและความปรารถนาดีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากภายในเหล่าผู้นำทางการเมืองกระแสหลัก ตรงข้ามกับอังกฤษซึ่งหวาดกลัวการปฏิวัติของชาวอินเดีย[72][73] อันที่จริงแล้วกองทัพอินเดียมีกำลังพลเหนือกว่ากองทัพอังกฤษเมื่อสงครามเริ่มต้นใหม่ ๆ อินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษสนับสนุนความพยายามของสงครามของอังกฤษอย่างมากโดยการจัดหากำลังคนและทรัพยากร รัฐสภาอินเดียปฏิบัติเช่นนั้นด้วยหวังว่าจะได้รับสิทธิ์ปกครองตนเอง ขณะที่อินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอยู่มาก สหราชอาณาจักรทำให้ชาวอินเดียผิดหวังโดยไม่ให้การปกครองตนเอง นำไปสู่ยุคคานธีในประวัติศาสตร์อินเดีย ทหารและแรงงานอินเดียกว่า 1.3 ล้านคนถูกส่งไปปฏิบัติในยุโรป แอฟริกาและตะวันออกกลาง ขณะที่ทั้งรัฐบาลอินเดียและเจ้าชายส่งเสบียงอาหาร เงินและเครื่องกระสุนให้เป็นปริมาณมาก จากทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในแนวรบด้านตะวันตก 140,000 นาย และอีกเกือบ 700,000 นายในตะวันออกกลาง ทหารอินเดียเสียชีวิต 47,476 นาย และได้รับบาดเจ็บ 65,126 นายระหว่างสงคราม[74]
แนวรบด้านตะวันออก[แก้]
การปฏิบัติขั้นต้น[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ แนวรบด้านตะวันออก (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)
ขณะที่สถานการณ์ในแนวรบด้านตะวันตกยังคุมเชิงกันอยู่ สงครามยังดำเนินต่อไปในแนวรบด้านตะวันออก แผนเดิมของรัสเซียกำหนดให้รุกรานกาลิเซียของออสเตรียและปรัสเซียตะวันออกของเยอรมนีพร้อมกัน แม้ว่าการรุกขั้นต้นเข้าไปในกาลิเซียของรัสเซียจะประสบความสำเร็จใหญ่หลวง แต่กองทัพที่ส่งไปโจมตีปรัสเซียตะวันออกถูกขับกลับมาโดยฮินเดนบูร์กและลูเดนดอร์ฟที่ทันเนนแบร์กและทะเลสาบมาซูเรียนในเดือนสิงหาคมและกันยายน ค.ศ. 1914[75][76] ฐานอุตสาหกรรมที่ด้อยพัฒนาของรัสเซียและผู้นำทางทหารที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังนี้ เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1915 รัสเซียล่าถอยเข้าไปในกาลิเซีย และในเดือนพฤษภาคม ฝ่ายมหาอำนาจกลางสามารถตีผ่านแนวรบทางใต้ของโปแลนด์ครั้งใหญ่[77] วันที่ 5 สิงหาคม ฝ่ายมหาอำนาจกลางยึดวอร์ซอและบีบให้รัสเซียถอยออกจากโปแลนด์
การปฏิวัติรัสเซีย[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ การปฏิวัติรัสเซีย พ.ศ. 2460
-
ดูเพิ่มที่ การทัพรัสเซียเหนือ
แม้ความสำเร็จในกาลิเซียตะวันออกระหว่างการรุกบรูซิลอฟเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916[78] แต่ความไม่พอใจกับการชี้นำสู่สงครามของรัฐบาลรัสเซียเพิ่มมากขึ้น ความสำเร็จถูกบ่นทอนโดยความไม่เต็มใจของนายพลคนอื่นที่ส่งกำลังของตนเข้าไปสนับสนุนให้ได้รับชัยชนะ กองทัพสัมพันธมิตรและรัสเซียฟื้นฟูชั่วคราวเฉพาะเมื่อโรมาเนียเข้าสู่สงครามเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม กองทัพเยอรมันเข้าช่วยเหลือกองทัพออสเตรีย-ฮังการีพร้อมรบในทรานซิลเวเนียและบูคาเรสต์เสียให้แก่ฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ขณะเดียวกัน ความไม่สงบเกิดขึ้นในรัสเซีย ระหว่างที่ซาร์ยังคงประทับอยู่ที่แนวหน้า การปกครองอย่างขาดพระปรีชาสามารถของจักรพรรดินีอเล็กซานดรานำไปสู่การประท้วง และการฆาตกรรมคนสนิทของพระนาง รัสปูติน เมื่อปลายปี ค.ศ. 1916
เมื่อเดือนมีนาคม 1917 การชุมนุมประท้วงในเปโตรกราด ลงเอยด้วยการสละราชบัลลังก์ของซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียและการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวของรัสเซียซึ่งอ่อนแอ และแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มสังคมนิยมเปโตรกราดโซเวียต การจัดการดังกล่าวนำไปสู่ความสับสนและความวุ่นวายทั้งที่แนวหน้าและในรัสเซีย กองทัพรัสเซียยิ่งมีประสิทธิภาพด้อยลงกว่าเดิมมาก[77]
สงครามและรัฐบาลได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อย ๆ ความไม่พอใจทำให้พรรคบอลเชวิค ที่นำโดย วลาดีมีร์ เลนิน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เขาให้สัญญาว่าจะดึงรัสเซียออกจากสงครามและทำให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ชัยชนะของพรรคบอลเชวิคในเดือนพฤศจิกายนนั้น ตามมาด้วยการสงบศึกและการเจรจากับเยอรมนี ในตอนแรก พรรคบอลเชวิคปฏิเสธข้อเสนอของเยอรมนี แต่เมื่อกองทัพเยอรมันทำสงครามต่อไปและเคลื่อนผ่านยูเครนโดยไม่ช้าลง รัฐบาลใหม่จึงต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลีตอฟสก์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1918 ซึ่งทำให้รัสเซียออกจากสงคราม แต่ต้องยอมยกดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล รวมไปถึงฟินแลนด์ รัฐบอลติก บางส่วนของโปแลนด์และยูเครนแก่ฝ่ายมหาอำนาจกลาง[79] อย่างไรก็ตาม ดินแดนที่เยอรมนีได้รับจากรัสเซียทำให้ต้องแบ่งกำลังพลไปยึดครองและอาจเป็นปัจจัยนำสู่ความล้มเหลวของการรุกฤดูใบไม้ผลิ และสนับสนุนอาหารและยุทธปัจจัยอื่นค่อนข้างน้อย
ด้วยการลงมติยอมรับสนธิสัญญาเบรสต์-ลีตอฟสก์ ไตรภาคีจึงไม่คงอยู่อีกต่อไป ฝ่ายสัมพันธมิตรนำกำลังขนาดเล็กรุกรานรัสเซีย ส่วนหนึ่งเพื่อหยุดมิให้เยอรมนีใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของรัสเซีย และในขอบเขตที่เล็กกว่า เพื่อให้การสนับสนุน "รัสเซียขาว" (ตรงข้ามกับ "รัสเซียแดง") ในสงครามกลางเมืองรัสเซีย[80] กองทัพสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่อาร์ชอันเกลและวลาดิวอสตอก
ข้อเสนอริเริ่มการเจรจาสันติภาพของฝ่ายมหาอำนาจกลาง[แก้]
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 หลังจากการสู้รบอย่างดุเดือดสิบเดือนของยุทธการแวร์ดังและการรุกโรมาเนียที่ประสบความสำเร็จ เยอรมนีพยายามจะเจรจาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่นานหลังจากนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐ วูดโรว์ วิลสันพยายามเข้าแทรกแซงเป็นผู้ประนีประนอม โดยร้องขอในโน้ตแก่ทั้งสองฝ่ายให้ระบุข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่าย คณะรัฐมนตรีสงครามของอังกฤษมองว่าข้อเสนอสันติภาพของเยอรมนีเป็นแผนการสร้างความแตกแยกในฝ่ายสัมพันธมิตร หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว อังกฤษถือโน้ตของวิลสันเป็นอีกความพยายามหนึ่ง โดยส่งสัญญาณว่าสหรัฐใกล้จะเข้าสู่สงครามกับเยอรมนีหลัง "การทำลายล้างด้วยเรือดำน้ำ" ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรโต้เถียงกันเรื่องการตอบข้อเสนอของวิลสัน เยอรมนีเลือกจะบอกปัดและสนับสนุน "การแลกเปลี่ยนมุมมองโดยตรง" มากกว่า เมื่อทราบถึงการตอบสนองของเยอรมนี รัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอิสระจะระบุข้อเรียกร้องที่ชัดเจนในวันที่ 14 มกราคม โดยเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหาย การอพยพประชากรจากดินแดนยึดครอง ค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศส รัสเซียและโรมาเนีย และการยอมรับหลักการแห่งเชื้อชาติ ซึ่งรวมไปถึงการให้เสรีภาพแก่ชาวอิตาลี สลาฟ โรมาเนีย เชโกสโลวัก และการสถาปนา "โปแลนด์ที่มีอิสระและรวมเป็นหนึ่ง" ว่าด้วยปัญหาความมั่นคง ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกร้องคำยืนยันที่จะป้องกันหรือจำกัดสงครามในอนาคต และยกเลิกการลงโทษ เป็นเงื่อนไขของทุกการเจรจาสันติภาพ[81] การเจรจาล้มเหลวและไตรภาคีปฏิเสธข้อเสนอของเยอรมนี เพราะเยอรมนีไม่ได้กล่าวถึงข้อเสนอใดเจาะจง วิลสันและไตรภาคีว่าจะไม่เริ่มการเจรจาสันติภาพจนกว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางจะอพยพประชากรในดินแดนยึดครองที่เคยเป็นของฝ่ายสัมพันธมิตรและค่าชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด[82]
ค.ศ. 1917-1918[แก้]
ความคืบหน้าใน ค.ศ. 1917[แก้]
เหตุการณ์ใน ค.ศ. 1917 นั้นได้พิสูจน์แล้วว่ามีความเด็ดขาดในการยุติสงคราม แม้ว่าผลจะยังไม่อาจสัมผัสได้กระทั่งปลาย ค.ศ. 1918 การปิดล้อมทางทะเลของกองทัพเรืออังกฤษได้ทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่อเยอรมนี เยอรมนีได้โต้ตอบด้วยการออกปฏิบัติการเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้อังกฤษขาดแคลนอาหารและต้องออกจากสงคราม นักวางแผนชาวเยอรมันประเมินว่า สงครามเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตจะทำให้อังกฤษสูญเสียเรือไปกว่า 600,000 ตันต่อเดือน ขณะที่อังกฤษตระหนักว่านโยบายดังกล่าวมีแนวโน้มจะดึงให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่ความขัดแย้ง การสูญเสียเรือของอังกฤษจะสูงมากเสียจนอังกฤษถูกบีบให้เรียกร้องสันติภาพหลังเวลาผ่านไป 5 ถึง 6 เดือน ก่อนที่การเข้าแทรกแซงของสหรัฐจะมีผลกระทบ ในความเป็นจริง เรืออังกฤษถูกยิงจมไปคิดเป็นน้ำหนักมากกว่า 500,000 ตันต่อเดือนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม และสูงที่สุด 860,000 ตันในเดือนเมษายน หลังเดือนกรกฎาคม ได้มีการนำระบบขบวนเรือคุ้มกันกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดภัยคุกคามจากเรืออูลงอย่างยิ่ง อังกฤษปลอดภัยจากการขาดแคลนอาหาร ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลง และทหารสหรัฐเข้าร่วมสงครามเป็นจำนวนมากกว่าที่เยอรมนีเคยคาดไว้ก่อนหน้านี้มาก
วันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 ระหว่างการรุกเนวิลล์ กองพลอาณานิคมที่ 2 ของฝรั่งเศสที่เหน็ดเหนื่อย ทหารผ่านศึกยุทธการแวร์เดิง ปฏิเสธคำสั่งที่ได้รับ มาถึงโดยเมาและปราศจากอาวุธ นายทหารไม่อาจหาวิธีการมาลงโทษทหารทั้งกองพลได้ และไม่มีการดำเนินมาตรการรุนแรงในทันที จากนั้น การขัดขืนคำสั่งได้ลุกลามไปยังอีก 54 กองพลของฝรั่งเศส และมีทหารหนีหน้าที่ 20,000 นาย กองทัพสัมพันธมิตรอื่นโจมตีแต่ประสบความสูญเสียมหาศาล[83] อย่างไรก็ตาม ด้วยการดึงดูดสู่ความรักชาติและหน้าที่ เช่นเดียวกับการจับกุมและการพิจารณาครั้งใหญ่ กระตุ้นให้ทหารกลับมาป้องกันสนามเพลาะของตน แม้ว่าทหารฝรั่งเศสปฏิเสธจะเข้าร่วมในการปฏิวัติการรุกต่อไป[84] โรเบร์ต เนวิลล์ถูกปลดจากตำแหน่งบัญชาการในวันที่ 15 พฤษภาคม และแทนที่ด้วยพลเอกฟิลิป เปแตง ผู้ยกเลิกการรุกขนาดใหญ่อันนองเลือดชั่วคราว
ชัยชนะของออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนีที่ยุทธการกาปอเรตโต นำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรที่การประชุมราปัลโลจัดตั้งสภาสงครามสูงสุดเพื่อประสานการวางแผน โดยก่อนหน้านั้น กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสได้ดำเนินการบังคับบัญชาแยกกัน
ในเดือนธันวาคม ฝ่ายมหาอำนาจกลางลงนามสงบศึกกับรัสเซีย ทำให้ทหารเยอรมันจำนวนมากสามารถถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่ในทางตะวันตกได้ ด้วยกำลังเสริมเยอรมนีและทหารสหรัฐที่ไหลบ่าเข้ามาใหม่ ทำให้แนวรบด้านตะวันตกจะเป็นการตัดสินผลของสงคราม ฝ่ายมหาอำนาจกลางทราบว่าตนไม่อาจเอาชนะสงครามยืดเยื้อ แต่พวกเขาตั้งความหวังไว้สูงสำหรับความสำเร็จโดยขึ้นอยู่กับการรุกอยางรวดเร็วครั้งสุดท้าย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำฝ่ายมหาอำนาจกลางและฝ่ายสัมพันธมิตรต่างเริ่มรู้สึกกลัวต่อความไม่สงบในสังคมและการปฏิวัติในยุโรป ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็มุ่งได้รับชัยชนะขั้นเด็ดขาดอย่างรวดเร็ว[85]
ค.ศ. 1917 จักรพรรดิคาร์ลที่ 1 แห่งออสเตรีย ทรงพยายามเจรจาแยกต่างหากอย่างลับ ๆ กับคลูมองโซ โดยมีน้องชายของพระมเหสี ซิกตัส ในเบลเยียม เป็นคนกลาง โดยเยอรมนีไม่รับรู้ด้วย เมื่อการเจรจาล้มเหลว และความพยายามดังกล่าวทราบถึงเยอรมนี ส่งผลให้เกิดหายนะทางการทูตระหว่างสองประเทศ[86][87]
สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงคราม[แก้]
สหรัฐอเมริกาเดิมดำเนินนโยบายไม่แทรกแซง เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างประเทศและเป็นนายหน้าสันติภาพ เมื่อเรืออูเยอรมันจมเรือโดยสารลูซิทาเนียของอังกฤษ ใน ค.ศ. 1915 ที่มีชาวอเมริกันอยู่บนเรือ 128 คน ประธานาธิบดีวิลสันได้สาบานว่า "อเมริกามีทิฐิมากเกินกว่าจะสู้" และเรียกร้องให้ยกเลิกการโจมตีเรือพลเรือน ซึ่งเยอรมนีก็ยอมตาม วิลสันพยายามเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทแต่ล้มเหลว เขาเตือนย้ำว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ทนต่อสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขต วิลสันได้รับแรงกดดันธีโอดอร์ รูสเวลต์ ผู้ประณามพฤติการณ์ของเยอรมนีว่าเป็น "การกระทำอันเป็นโจรสลัด"[88] ความปรารถนาของวิลสันที่จะได้เข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพเมื่อสงครามยุติเพื่อพัฒนาแนวคิดสันนิบาตชาติเองก็เป็นส่วนสำคัญ[89] รัฐมนตรีต่างประเทศของวิลสัน วิลเลียม เจนนิงส์ ไบรอัน ซึ่งความคิดเห็นของเขาได้ถูกเพิกเฉย ได้ลาออกเพราะไม่อาจสนับสนุนนโยบายของประธานาธิบดีได้อีกต่อไป มติมหาชนรู้สึกโกรธกับเหตุวินาศกรรมแบล็กทอมในนครเจอร์ซีย์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งสงสัยว่าเยอรมนีอยู่เบื้องหลัง และเหตุระเบิดคิงส์แลนด์
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1917 เยอรมนีทำสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขตอีกครั้ง รัฐมนตรีต่างประเทศบอกแก่เม็กซิโก ผ่านโทรเลขซิมแมร์มันน์ ว่า สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มเข้าสู่สงครามหลังสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขตเริ่มขึ้น และเชิญเม็กซิโกเข้าสู่สงครามเป็นพันธมิตรของเยอรมนีต่อสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เยอรมนีจะส่งเงินให้เม็กซิโกและช่วยให้เม็กซิโกได้รับดินแดนเท็กซัส นิวเม็กซิโกและแอริโซนาที่เม็กซิโกเสียไประหว่างสงครามเม็กซิโก-อเมริกาเมื่อ 70 ปีก่อน[90] วิลสันเปิดเผยโทรเลขดังกล่าวให้แก่สาธารณชน และชาวอเมริกันมองว่าเป็นเหตุแห่งสงคราม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่สงครามโดยอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายพันธมิตร แต่ไม่เคยเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของฝ่ายพันธมิตรเลย โดยเรียกตัวเองว่าเป็น "ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ" (Associated Power) สหรัฐอเมริกามีกองทัพขนาดเล็ก แต่หลังรัฐบัญญัติคัดเลือกทหาร (Selective Service Act) สหรัฐก็มีทหารเกณฑ์มากถึง 2.8 ล้านนาย[91] และภายในฤดูร้อน ค.ศ. 1918 ก็มีการส่งทหารใหม่กว่า 10,000 นายไปยังฝรั่งเศสทุกวัน ใน ค.ศ. 1917 รัฐสภาสหรัฐให้สถานะพลเมืองแก่ชาวเปอร์โตริโก เมื่อพวกเขาถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จากรัฐบัญญัติโจนส์ เยอรมนีคำนวณผิด โดยเชื่อว่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าสหรัฐอเมริกาจะมาถึง และการขนส่งทหารข้ามมหาสมุทรสามารถถูกหยุดยั้งได้โดยเรืออู[92]
กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้ส่งกองเรือรบไปยังสกาปาโฟลว์ (Scapa Flow) เพื่อเข้าร่วมกับกองเรือหลวง (Grand Fleet) อังกฤษ, เรือพิฆาตไปยังควีนส์ทาวน์, ไอร์แลนด์ และเรือดำน้ำไปช่วยคุ้มกันขบวนเรือ นาวิกโยธินหลายกรมของสหรัฐอเมริกาถูกส่งไปยังฝรั่งเศส ด้านอังกฤษและฝรั่งเศสต่างต้องการให้หน่วยทหารอเมริกันเข้าเสริมกำลังบนแนวรบที่มีทหารของตนอยู่ก่อนแล้ว และไม่สิ้นเปลืองจำนวนเรือที่มีอยู่น้อยเพื่อขนย้ายเสบียง และไม่ต้องการใช้เรือเพื่อเป็นการขนส่งเสบียง ซึ่งสหรัฐปฏิเสธความต้องการแรก แต่ยอมตามความต้องการข้อหลัง พลเอกจอห์น เจ. เพอร์ชิง ผู้บัญชาการกองกำลังรบนอกประเทศอเมริกา (AEF) ปฏิเสธที่จะแบ่งหน่วยทหารออกเพื่อใช้เป็นกำลังหนุนแก่หน่วยทหารอังกฤษและฝรั่งเศส โดยยกเว้นให้กรมรบแอฟริกัน-อเมริกันถูกใช้ในกองพลฝรั่งเศสได้ หลักนิยมของ AEF กำหนดให้ใช้การโจมตีทางด้านหน้า ซึ่งผู้บัญชาการอังกฤษและฝรั่งเศสเลิกใช้ไปนานแล้ว เพราะสูญเสียกำลังพลมหาศาล[94]
การรุกฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1918[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ การรุกฤดูใบไม้ผลิ
พลเอกเยอรมัน อิริช ลูเดนดอร์ฟ ได้ร่างแผนซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการมิคาเอล ขึ้นสำหรับการรุกบนแนวรบด้านตะวันตกใน ค.ศ. 1918 การรุกฤดูใบไม้ผลิมีจุดประสงค์เพื่อแยกกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสออกจากกันด้วยการหลอกหลวงและการรุกหลายครั้ง ผู้นำเยอรมนีหวังว่าการโจมตีอย่างเด็ดขาดก่อนที่กองกำลังสหรัฐขนาดใหญ่จะมาถึง ปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1918 โดยโจมตีกองทัพอังกฤษที่อเมนส์ และสามารถรุกเข้าไปได้ถึง 60 กิโลเมตรอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดสงคราม[95]
ส่วนแนวสนามเพลาะของอังกฤษและฝรั่งเศสถูกเจาะผ่านด้วยยุทธวิธีแทรกซึมที่เป็นของใหม่ ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า ยุทธวิธีฮูเทียร์ (Hutier tactics) ตามชื่อพลเอกชาวเยอรมันคนหนึ่ง ก่อนหน้านั้น การโจมตีเป็นรูปแบบการระดมยิงปืนใหญ่อย่างยาวนานและการบุกโจมตีโดยใช้กำลัพลมหาศาล อย่างไรก็ตาม ในการรุกฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1918 ลูเดนดอร์ฟได้ใช้ปืนใหญ่เฉพาะเป็นเวลาสั้น ๆ และแทรกซึมกลุ่มทหารราบขนาดเล็กไปยังจุดที่อ่อนแอ พวกเขาโจมตีพื้นที่สั่งการและพื้นที่ขนส่ง และผ่านจุดที่มีการต้านทานอย่างดุเดือด จากนั้น ทหารราบที่มีอาวุธหนักกว่าจะเข้าบดขยี้ที่ตั้งที่ถูกโดดเดี่ยวนี้ภายหลัง ความสำเร็จของเยอรมนีนี้อาศัยความประหลาดใจของข้าศึกอยู่มาก[96]
แนวหน้าเคลื่อนเข้าไปในระยะ 120 กิโลเมตรจากกรุงปารีส ปืนใหญ่รถไฟหนักของครุพพ์ยิงกระสุน 183 นัดเข้าใส่กรุงปารีส ทำให้ชาวปารีสจำนวนมากหลบหนี การรุกในช่วงแรกประสบความสำเร็จอย่างงดงามกระทั่งจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ทรงประกาศให้วันที่ 24 มีนาคมเป็นวันหยุดราชการ ชาวเยอรมันจำนวนมากคิดว่าชัยชนะของสงครามอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังการต่อสู้อย่างหนัก ปรากฏว่าการรุกของเยอรมนีหยุดชะงักไป การขาดแคลนรถถังหรือปืนใหญ่เคลื่อนที่ทำให้ฝ่ายเยอรมันไม่สามารถรวมกำลังกันรุกต่อไปได้ สถานการณ์ดังกล่าวยังเลวร้ายลงไปอีกเมื่อเส้นทางส่งกำลังบำรุงตอนนี้ถูกยืดออกไปอันเป็นผลจากการรุก[97] การหยุดกะทันหันนี้ยังเป็นผลมาจากกำลังจักรวรรดิออสเตรเลีย (AIF) จำนวนสี่กองพลที่ถูกกวดไล่ และสามารถกระทำในสิ่งที่ไม่มีกองทัพใดสามารถทำได้ และหยุดยั้งการรุกของเยอรมนีตามเส้นทางได้ ระหว่างช่วงเวลานี้ กองพลออสเตรเลียที่หนึ่งถูกส่งขึ้นเหนืออย่างเร่งรีบอีกครั้งเพื่อหยุดยั้งการเจาะผ่านครั้งที่สองของเยอรมนี
พลเอกฟอคกดดันให้ใช้กำลังอเมริกาที่มาถึงแล้วเป็นการเข้าสวมตำแหน่งแทนโดยลำพัง แต่เพอร์ชิงมุ่งให้จัดวางหน่วยของสหรัฐอเมริกาเป็นกองกำลังอิสระ หน่วยเหล่านี้ถูกมอบหมายให้อยู่ในการบังคับบัญชาของฝรั่งเศสและจักรวรรดิอังกฤษที่ทหารร่อยหรอลง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม สภาสงครามสูงสุดของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรถูกจัดตั้งขึ้นที่การประชุมดูล็อง (Doullens) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917[98] พลเอกฟอคถูกแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรสูงสุด เฮก เปแตง และเพอร์ชิงยังคงมีการควบคุมทางยุทธวิธีในส่วนของตนอยู่ ฟอครับบทบาทประสานงาน มากกว่าบทบาทชี้นำ และกองบัญชาการอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐดำเนินการส่วนใหญ่เป็นอิสระต่อกัน[98]
หลังปฏิบัติการมิคาเอล เยอรมนีเริ่มปฏิบัติการเกออร์เกทเทอ (Operation Georgette) ต่อเมืองท่าช่องแคบอังกฤษทางเหนือ ฝ่ายสัมพันธมิตรหยุดยั้งการผลักดันโดยเยอรมนีได้รับดินแดนเพิ่มน้อยมาก กองทัพเยอรมันทางใต้เริ่มปฏิบัติการบลอแชร์และยอร์ค ซึ่งพุ่งเป้าไปยังกรุงปารีส ปฏิบัติการมาร์นเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม โดยพยายามจะล้อมแรมส์และเริ่มต้นยุทธการแม่น้ำมาร์นครั้งที่สอง การตีตอบโต้ที่เป็นผลนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการรุกร้อยวัน นับเป็นการรุกที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงคราม
จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม กองทัพเยอรมันถูกผลักดันข้ามแม่น้ำมาร์นที่แนวเริ่มต้นไกแซร์ชลัชท์[99] โดยที่ไม่บรรลุจุดประสงค์ใด ๆ เลย หลังขั้นสุดท้ายของสงครามในทางตะวันตกแล้ว กองทัพเยอรมันจะไม่อาจเป็นฝ่ายริเริ่มได้อีก ความสูญเสียของเยอรมนีระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน ค.ศ. 1918 อยู่ที่ 270,000 คน รวมทั้งสตอร์มทรุปเปอร์ที่ได้รับการฝึกอย่างดี ขณะเดียวกัน ในประเทศกำลังแตกออกเป็นเสี่ยง การรณรงค์ต่อต้านสงครามเกิดบ่อยครั้งขึ้น และขวัญกำลังใจในกองทัพถดถอย ผลผลิตทางอุตสาหกรรมทรุดลงอย่างหนัก โดยคิดเป็น 53% ของผลผลิตทางอุตสาหกรรมใน ค.ศ. 1913
ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัย: ฤดูร้อนและใบไม้ร่วง ค.ศ. 1918[แก้]
-
ดูบทความหลักที่ การรุกร้อยวัน
การตีตอบโต้ของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งรู้จักกันว่า การรุกร้อยวัน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1918 ในยุทธการอาเมียง กองทัพน้อยที่ 3 กองทัพอังกฤษที่ 4 อยู่ทางปีกซ้าย กองทัพฝรั่งเศสที่ 1 อยู่ทางปีกขวา และกองทัพน้อยออสเตรเลียและแคนาดาเป็นหัวหอกโจมตีตรงกลางผ่าน Harbonnières[100][101] ยุทธการครั้งนั้นมีรถถังมาร์ก 4 และมาร์ก 5 กว่า 414 คัน และทหารกว่า 120,000 นายเข้าร่วม ฝ่ายสัมพันธมิตรรุกเข้าไป 12 กิโลเมตรในดินแดนที่เยอรมนีถือครองในเวลาเพียงเจ็ดชั่วโมง อีริช ลูเดนดอร์ฟ เรียกวันนี้ว่า "วันอันมืดมนของกองทัพเยอรมัน"[100][102]
หัวหอกออสเตรเลีย-แคนาดาที่อาเมียง ยุทธการซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความล่มจมของเยอรมนี[103] ช่วยดึงให้กองทัพอังกฤษคืบหน้าไปทางเหนือและกองทัพฝรั่งเศสไปทางใต้ ขณะที่การต้านทานของเยอรมนีบนแนวรบกองทัพอังกฤษที่ 4 ที่อาเมียงเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง หลังฝ่ายสัมพันธมิตรรุกเข้าไป 14 กิโลเมตรจากอาเมียง กองทัพฝรั่งเศสที่ 3 ขยายความยาวของแนวรบอาเมียงเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม เมื่อกองทัพถูกส่งไปทางปีกขวาของกองทัพฝรั่งเศสทรา 1 และรุกเข้าไป 6 กิโลเมตร ซึ่งกำลังปลดปล่อย Lassigny กระทั่งการสู้รบดำเนินไปจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม ทางใต้ของกองทัพฝรั่งเศสที่ 3 พลเอก Charles Mangin เคลื่อนกองทัพฝรั่งเศสที่ 10 ไปข้างหน้าที่ Soissons เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เพื่อจับกุมเชลยศึกแปดพันคน ปืนใหญ่สองร้อยกระบอก และที่ราบสูง Aisne ที่มองเห็นและคุกคามที่ตั้งของเยอรมนีทางเหนือของ Vesle[104] อีริช ลูเดนดอร์ฟบรรยายว่านี่เป็น "วันอันมืดมน" อีกวันหนึ่ง
ขณะเดียวกัน พลเอก Byng แห่งกองทัพอังกฤษที่ 3 รายงานว่าข้าศึกบนแนวรบของเขากำลังมีจำนวนลดลงจากการจำกัดการล่าถอย ถูกออกคำสั่งให้โจมตีด้วยรถถัง 200 คัน ไปยัง Bapaume เปิดฉากยุทธการอัลแบร์ (Albert) ด้วยคำสั่งเฉพาะให้ "เจาะแนวรบข้าศึก เพื่อที่จะตีโอบปีกข้าศึกที่อยู่บนแนวรบ" (ตรงข้ามกองทัพอังกฤษที่ 4 ที่อาเมียง)[103] การโจมตีเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะชิงความได้เปรียบจากการรุกที่ประสบความสำเร็จตรงปีก แล้วจากนั้นจึงยุติเมื่อการโจมตีสูญเสียแรงผลักดันเริ่มต้นไป[104]
แนวรบยาว 24 กิโลเมตรของกองทัพอังกฤษ ทางเหนือของอัลแบร์ มีความคืบหน้า หลังหยุดไปวันหนึ่งเมื่อเผชิญกับแนวต้านทานหลักซึ่งข้าศึกได้ถอนกำลังไปแล้ว[105] กองทัพอังกฤษที่ 4 ของรอว์ลินสัน สามารถสู้รบต่อไปทางปีกซ้ายระหว่างอัลแบร์และซอมม์ ซึ่งยืดแนวระหว่างตำแหน่งอยู่หน้าของกองทัพที่ 3 และแนวรบอาเมียง ซึ่งส่งผลให้ยึดอัลแบร์กลับคืนได้ในขณะเดียวกัน[104] วันที่ 26 สิงหาคม กองทัพอังกฤษที่ 1 ซึ่งอยู่ทางปีกซ้ายของกองทัพที่ 3 ถูกดึงเข้าสู่การสู้รบซึ่งยืดกองทัพไปทางเหนือจนพ้นอารัส เหล่าทหารแคนาดาซึ่งกลับอยู่ที่เดิมในทัพหน้าของกองทัพที่ 1 สู้รบจากอารัสไปทางตะวันออก 8 กิโลเมตร คร่อมพื้นที่อารัส-กองเบร์ ก่อนจะถึงการป้องกันชั้นนอกของแนวฮินเดนบูร์ก ก่อนจะเจาะแนวดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 และ 29 สิงหาคม วันเดียวกัน เยอรมนีเสีย Bapaume ให้แก่กองพลนิวซีแลนด์แห่งกองทัพที่ 3 และกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งยังนำการรุกของกองทัพที่ 4 สามารถผลักดันแนวรบไปข้างหน้าที่อาเมียงและยึดเปรอนน์ (Peronne) และมงแซ็ง-เกียงแต็ง (Mont Saint-Quentin) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ห่างไปทางใต้ กองทัพฝรั่งเศสที่ 1 และที่ 3 รุกคืบอย่างช้า ๆ ขณะที่กองทัพที่ 10 ซึ่งข้ามแม่น้ำ Ailette มาแล้ว และอยู่ทางตะวันออกของ Chemin des Dames ปัจจุบันอยู่ใกล้กับตำแหน่งอัลเบริชของแนวฮินเดนแบร์ก[106] ระหว่างช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม แรงกดดันตามแนวรบยาว 113 กิโลเมตรต่อข้าศึกนั้นเป็นไปอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง แม้กระทั่งทางเหนือในฟลานเดอร์ กองทัพอังกฤษที่ 2 และที่ 5 มีความคืบหน้าจับกุมเชลยศึกและยึดที่มั่นได้ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน[106]
วันที่ 2 กันยายน เหล่าแคนาดาโอบล้อมแนวฮินเดนแบร์กด้านข้าง ด้วยการเจาะตำแหน่งโวทัน (Wotan) ทำให้กองทัพที่ 3 สามารถรุกคืบต่อไปได้ ซึ่งส่งผลสะท้อนกลับตลอดแนวรบด้านตะวันตก วันเดียวกันโอแบร์สเตอ เฮเรสไลทุง (OHL) ไม่มีทางเลือกนอกจากสั่งให้หกกองทัพล่าถอยเข้าไปสู่แนวฮินเดนแบร์กทางใต้ หลังกานัลดูนอร์ดบนแนวรบกองทัพที่ 1 ของแคนาดา และถอนกลับไปยังแนวทางตะวันออกของลิส (Lys) ในทางเหนือ ซึ่งถูกยึดครองโดยปราศจากการต่อสู้ ส่วนที่ยื่นออกมาถูกยึดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา[107] ตามข้อมูลของลูเดนดอร์ฟฟ์ "เราจำต้องยอมรับความจำเป็น ... ที่จะล่าถอยทั้งแนวรบจากสการ์ป (Scarpe) ถึงเวสเล (Vesle)"[108]
เวลาเกือบสี่สัปดาห์หลังการต่อสู้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม มีเชลยศึกเยอรมันถูกจับกุมได้เกิน 100,000 นาย อังกฤษจับได้ 75,000 นาย และที่เหลือโดยฝรั่งเศส จนถึง "วันอันมืดมนของกองทัพเยอรมัน" กองบัญชาการทหารสูงสุดเยอรมนีตระหนักว่าพ่ายสงครามแล้วและพยายามบรรลุจุดจบอันน่าพอใจ วันหลังการสู้รบ ลูเดนดอร์ฟฟ์บอกพันเอกแมร์ทซ์ว่า "เราไม่อาจชนะสงครามได้อีกต่อไป แต่เราจะต้องไม่แพ้เช่นกัน" วันที่ 11 สิงหาคม เขาเสนอลาออกจากตำแหน่งต่อไกเซอร์ ผู้ทรงปฏิเสธ โดยทรงตอบว่า "ฉันเห็นว่าเราต้องทำให้เกิดสมดุล เราได้เกือบถึงขีดจำกัดอำนาจการต้านทานของเรา สงครามต้องยุติ" วันที่ 13 สิงหาคม ที่สปา (Spa) ฮินเดนแบร์ก ลูเดนดอร์ฟฟ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศฮินทซ์ตกลงว่าสงครามไม่อาจยุติลงได้ในทางทหาร และในวันรุ่งขึ้นสภาราชสำนักเยอรมันตัดสินใจว่า ชัยชนะในสนามรบขณะนี้ยากที่จะเกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ออสเตรียและฮังการีเตือนว่า ทั้งสองสามารถทำสงครามได้ถึงเดือนธันวาคมเท่านั้น และลูเดนดอร์ฟฟ์เสนอการเจรจาสันติภาพทันที แด่ไกเซอร์ผู้ทรงสนองโดยทรงแนะนำให้ฮินทซ์มองหาการไกล่เกลี่ยจากสมเด็จพระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ เจ้าชายรุพเพรชท์เตือนเจ้าชายมักซ์แห่งบาเดนว่า "สถานการณ์ทางทหารของเราบั่นทอนลงอย่างรวดเร็วเสียใจฉันไม่เชื่อว่าเราสามารถยื้อได้ตลอดฤดูหนาวอีกต่อไป และเป็นไปได้ว่าหายนะจะมาเร็วกว่านั้น" วันที่ 10 กันยายน ฮินเดนแบร์กกระตุ้นท่าทีสันติภาพต่อจักรพรรดิชาลส์แห่งออสเตรีย และเยอรมนีร้องต่อเนเธอร์แลนด์ขอการไกล่เกลี่ย วันที่ 14 กันยายน ออสเตรียส่งบันทึกถึงคู่สงครามและประเทศเป็นเลางทั้งหมดเสนอการประชุมสันติภาพในประเทศที่เป็นกลาง และวันที่ 15 กันยายน เยอรมนียื่นข้อเสนอสันติภาพต่อเบลเยียม ข้อเสนอสันติภาพทั้งสองถูกปฏิเสธ และวันที่ 24 กันยายน OHL แจ้งต่อผู้นำในเบอร์ลินว่าการเจรจาสงบศึกหลีกเลี่ยงไม่ได้[106]
เดือนกันยายนเป็นเดือนที่ฝ่ายเยอรมันยังคงสู้รบการปฏิบัติกองระวังหลังอย่างเข็มแข้งและเริ่มการตีโต้ตอบหลายครั้งต่อตำแหน่งที่เสียไป แต่ประสบผลสำเร็จเพียงเล็กน้อย และเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมือง หมู่บ้าน ที่สูงและสนามเพลาะในตำแหน่งและกองรักษาด่านที่มีการป้องกันของแนวฮินเดนแบร์กยังเสียแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพอังกฤษเพียงชาติเดียวก็สามารถจับเชลยศึกได้ถึง 30,441 นายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การรุกต่อไปทางตะวันออกขนาดเล็กจะเกิดขึ้นหลังชัยชนะของกองทัพที่ 3 ที่อีวินกูร์ (Ivincourt) ในวันที่ 12 กันยายน กองทัพที่ 4 ที่อีเฟอนี (Epheny) ในวันที่ 18 กันายน และกองทัพฝรั่งเศสยึดได้แอซซีญีเลอก็อง (Essigny-le-Grand) อีกวันหนึ่งให้หลัง วันที่ 24 กันยายน การโจมตีครั้งสุดท้ายของทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสบนแนวรบ 6.4 กิโลเมตรจะเข้ามาในระยะ 3.2 กิโลเมตรของแซ็งก็องแต็ง (St. Quentin)[106] ด้วยกองรักษาด่านและแนวป้องกันขั้นต้นของตำแหน่งซีกฟรีดและอัลเบริชถูกทำลายหมดไป ฝ่ายเยอรมันขณะนี้อยู่หลังแนวฮินเดนแบร์กทั้งหมด ด้วยตำแหน่งโวทันของแนวนั้นได้ถูกเจาะไปแล้วและตำแหน่งซีกฟรีดอยู่ในอันตรายจะถูกโอบจากทางเหนือ เวลานี้ฝ่ายสัมพันธมิตรสบโอกาสโจมตีตลอดทั้งความยาวแนวรบ
การโจมตีตรงแนวฮินเดนแบร์กของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน รวมทหารสหรัฐด้วย ทหารอเมริกันที่ยังอ่อนประสบการณ์ประสบปัญหาเกี่ยวกับรถไฟเสบียงสำหรับหน่วยขนาดใหญ่บนภูมิประเทศทุรกันดาร[109] สัปดาห์หนึ่งให้หลังหน่วยฝรั่งเศสและอเมริกันเจาะผ่านในช็องปาญ (Champagne) ที่ยุทธการเนินบลังก์มง (Blanc Mont) บีบให้ฝ่ายเยอรมันถอยไปจากที่สูงที่ควบคุมอยู่ และรุกคืบเข้าใกล้ชายแดนเบลเยียม[110] เมืองเบลเยียมแห่งสุดท้ายที่ได้รับการปลดปล่อยก่อนการสงบศึกคือ เกนต์ (Ghent) ซึ่งฝ่ายเยอรมันยึดไว้เป็นจุดหลังกระทั่งฝ่ายสัมพันธมิตรนำปืนใหญ่ขึ้นมา[111][112] กองทัพเยอรมันได้ย่นระยะแนวรบของตนและใช้พรมแดนดัตช์เป็นสมอเพื่อสู้รบการปฏิบัติกองหลัง
เมื่อบัลแกเรียลงนามการสงบศึกแยกต่างหากเมื่อวันที่ 29 กันยายน ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับการควบคุมเซอร์เบียและกรีซ ลูเดนดอร์ฟฟ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ความเครียดใหญ่หลวงหลายเดือน มีอาการคล้ายกับป่วย เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเยอรมนีไม่อาจป้องกันได้อย่างสำเร็จอีกต่อไป[113][114]
ขณะเดียวกัน ข่าวความพ่ายแพ้ทางทหารที่กำลังเกิดขึ้นในไม่ช้าของเยอรมนีแพร่สะพัดไปทั่วกองทัพเยอรมัน ภัยคุกคามการขัดขืนคำสั่งนั้นสุกงอม พลเรือเอกไรนาร์ด เชร์และลูเดนดอร์ฟฟ์ตัดสินใจเริ่มความพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อฟื้นฟู "ความกล้าหาญ" ของกองทัพเรือเยอรมัน โดยทราบว่ารัฐบาลของเจ้าชายมาซีมีลันแห่งบาเดนจะยับยั้งการปฏิบัติเช่นนี้ ลูเดนดอร์ฟฟ์ตัดสินใจไม่ถวายรายงาน อย่างไรก็ดี ข่าวการโจมตีที่กำลังเกิดขึ้นในไม่ช้ามาถึงหูกะลาสีที่คีล กะลาสีหลายคนปฏิเสธจะเข้าร่วมการรุกทางทะเลซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ก่อกบฏและถูกจับกุม ลูเดนดอร์ฟฟ์รับผิดชอบความผิดพลาดนี้ ไกเซอร์ปลดเขาในวันที่ 26 ตุลาคม การล่มสลายของบอลข่านหมายความ่วา เยอรมนีกำลังเสียเสบียงอาหารและน้ำมันหลักของตน ปริมาณสำรองได้ใช้หมดไปแล้ว ขณะเดียวกับที่กองทัพสหรัฐมาถึงยุโรปด้วยอัตรา 10,000 นายต่อวัน[115]
โดยได้รับความสูญเสียถึง 6 ล้านชีวิต เยอรมนีได้หันไปหาสันติภาพ เจ้าชายมาซีมีลันแห่งบาเดนมีหน้าที่ในรัฐบาลใหม่เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร การเจรจาทางโทรเลขกับประธานาธิบดีวิลสันเริ่มขึ้นทันที ในความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าเขาจะได้รับข้อเสนอที่ดีกว่ากับอังกฤษและฝรั่งเศส แต่วิลสันกลับเรียกร้องให้ไกเซอร์สละราชสมบัติ ไม่มีการต่อต้านเมื่อฟีลิพพ์ ไชเดมันน์แห่งพรรคสังคมประชาธิปไตย ประกาศให้เยอรมนีเป็นสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน จักรวรรดิเยอรมันล่มสลายลง และเยอรมนีใหม่ คือ สาธารณรัฐไวมาร์ ได้เกิดขึ้นแทน[116]
การสงบศึกและการยอมจำนน[แก้]
การล่มสลายของฝ่ายมหาอำนาจกลางมาเยือนอย่างรวดเร็ว บัลแกเรียเป็นประเทศแรกที่ลงนามการสงบศึก เมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1918 ที่ซาโลนิกิ[118] วันที่ 30 ตุลาคม จักรวรรดิออตโตมันยอมจำนนที่มูโดรส[118]
วันที่ 24 กันยายน อิตาลีเริ่มการผลักดันซึ่งทำให้ได้รับดินแดนที่สูญเสียไปคืนหลังยุทธการคาปอเร็ตโต จนลงเอยในยุทธการวิตโตริโอ เวเนโต อันเป็นจุดจบที่กองทัพออสเตรีย-ฮังการีไม่อาจเป็นกำลังรบที่มีประสิทธิภาพได้อีกต่อไป การรุกนี้ยังกระตุ้นการสลายตัวของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม มีการประกาศเอกราชขึ้นในกรุงบูดาเปสต์, ปราก และซาเกร็บ วันที่ 29 ตุลาคม ทางการออสเตรีย-ฮังการีขอสงบศึกกับอิตาลี แต่อิตาลีรุกคืบต่อไป โดยไปถึงเทรนโต, ยูดีนและตรีเอสเต วันที่ 3 พฤศจิกายน ออสเตรีย-ฮังการีส่งธงพักรบขอการสงบศึก เงื่อนไข ซึ่งจัดการโดยโทรเลขกับทางการฝ่ายสัมพันธมิตรในกรุงปารีส มีการสื่อสารไปยังผู้บัญชาการออสเตรียและยอมรับ การสงบศึกกับออสเตรียมีการลงนามในวิลลา กิอุสติ ใกล้กับพาดัว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ออสเตรียและฮังการีลงนามการสงบศึกแยกกันหลังการล้มล้างราชวงศ์ฮับส์บูร์ก
หลังการปะทุของการปฏิวัติเยอรมัน มีการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน องค์ไกเซอร์ได้ทรงหลบหนีไปยังเนเธอร์แลนด์ วันที่ 11 พฤศจิกายน มีการลงนามการสงบศึกกับเยอรมนีขึ้นในตู้โดยสารรถไฟในคองเปียญ เมื่อเวลา 11 นาฬิกา ของวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 หรือ "ชั่วโมงที่สิบเอ็ด ของวันที่สิบเอ็ด ของเดือนที่สิบเอ็ด" การหยุดยิงมีผลบังคับ กองทัพซึ่งประจัญกันอยู่บนแนวรบด้านตะวันตกนั้นเริ่มถอนจากตำแหน่งของตน พลทหารแคนาดา จอร์จ ลอว์เรนซ์ ไพรซ์ ถูกยิงโดยพลแม่นปืนชาวเยอรมันเมื่อเวลา 10.57 น. และสิ้นชีวิตเมื่อเวลา 10.58 น.[119] เฮนรี กึนเธอร์ชาวอเมริกันถูกสังหาร 60 วินาทีก่อนการสงบศึกมีผลบังคับขณะเข้าตีกำลังพลเยอรมันที่รู้สึกประหลาดใจ เพราะทราบข่าวว่า กำลังจะมีการสงบศึกขึ้น[120] ทหารอังกฤษคนสุดท้ายที่เสียชีวิต คือ พลทหารจอร์จ เอ็ดวิน เอลลิสัน ผู้เสียชีวิตคนสุดท้ายในสงคราม คือ ร้อยโทโธมัส ผู้ซึ่ง หลังเวลา 11 นาฬิกา กำลังเดินไปยังแนวรบเพื่อแจ้งข่าวแก่ทหารอเมริกันซึ่งยังไม่ถูกแจ้งข่าวการสงบศึกว่า พวกเขาจะละทิ้งอาคารเบื้องหลังพวกเขา[121]
สถานะสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างทั้งสองฝ่ายดำรงอยู่เป็นเวลาอีกจนเดือน กระทั่งการลงนามสนธิสัญญาแวร์ซายกับเยอรมนีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 สนธิสัญญากับออสเตรีย ฮังการี บัลแกเรียและจักรวรรดิออตโตมันมีการลงนามภายหลัง อย่างไรก็ดี การเจรจากับจักรวรรดิออตโตมันนั้นตามมาด้วยการขัดแย้งกัน และสนธิสัญญาสันติภาพสุดท้ายระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับประเทศซึ่งอีกต่อมาไม่นานจะได้ชื่อว่า สาธารณรัฐตุรกี มีการลงนามเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1923 ที่โลซาน
ในทางกฎหมาย สนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการไม่เสร็จสมบูรณ์กระทั่งมีการลงนามในสนธิสัญญาโลซานฉบับสุดท้าย ภายใต้เงื่อนไขนั้น กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรถอนออกจากคอนสแตนติโนเปิลเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1923
ความได้เปรียบของฝ่ายสัมพันธมิตรและตำนานแทงข้างหลัง พฤศจิกายน ค.ศ. 1918[แก้]
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีกำลังบำรุงที่เป็นคนและยุทโธปกรณ์มากพอที่จะรุกรานเยอรมนี กระนั้น เมื่อมีการสงบศึกนั้น ไม่มีกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรใดข้ามพรมแดนเยอรมนีได้เลย แนวรบด้านตะวันตกยังอยู่ห่างจากกรุงเบอร์ลินเกือบ 1,400 กิโลเมตร และกองทัพเยอรมันยังล่าถอยจากสนามรบอย่างเป็นระเบียบดี ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ฮินเดนบูร์กและผู้นำเยอรมันอาวุโสคนอื่น ๆ เผยแพร่เรื่องเล่าว่า กองทัพของพวกเขามิได้ถูกเอาชนะอย่างแท้จริง ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นตำนานแทงข้างหลัง[122][123] คือ ถือว่าความพ่ายแพ้ของเยอรมนีนั้นมิได้เกิดจากการขาดความสามารถในการสู้รบต่อไป (แม้ทหารมากถึงหนึ่งล้านนายกำลังเจ็บป่วยจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ค.ศ. 1918 และไม่พร้อมรบ) แต่เป็นเพราะสาธารณชนขาดการสนองต่อ "การเรียกด้วยความรักชาติ" และการก่อวินาศกรรมอย่างเจตนาต่อความพยายามของสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกยิว สังคมนิยมและบอลเชวิค
เทคโนโลยี[แก้]
สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มต้นขึ้นเป็นการปะทะของเทคโนโลยีในคริสต์ศตวรรษที่ 20 กับยุทธวิธีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยได้เกิดความสูญเสียเลือดเนื้ออย่างใหญ่หลวงตามมา อย่างไรก็ดี เมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1917 กองทัพของประเทศใหญ่ ๆ ซึ่งมีกำลังพลหลายล้านนาย ได้ถูกปรับปรุงให้ทันสมัยและมีการใช้โทรศัพท์ การสื่อสารไร้สาย[124] รถหุ้มเกราะ รถถัง[125] และอากาศยาน ขบวนทหารราบมีการจัดใหม่ ดังนั้น กองร้อยที่มีทหาร 100 นายจึงมิใช่หน่วยหลักในการดำเนินกลยุทธ์อีกต่อไป และหมู่ที่มีทหารประมาณ 10 นาย ภายใต้บัญชาของนายทหารประทวนอ่อนอาวุโสกลายเป็นได้รับความนิยม
ปืนใหญ่เองก็ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นเช่นกัน ใน ค.ศ. 1914 ปืนใหญ่ประจำอยู่ในแนวหน้าและยิงไปยังเป้าหมายโดยตรง จนถึง ค.ศ. 1917 การยิงเล็งจำลองด้วยปืน (เช่นเดียวกับปืนครกหรือแม้กระทั่งปืนกล) พบแพร่หลาย โดยใช้เทคนิคใหม่สำหรับการกำหนดตำแหน่งและการตั้งระยะ ที่โดดเด่นคือ อากาศยานและโทรศัพท์สนามที่ตกค้างบ่อยครั้ง ภารกิจต่อสู้กองร้อยทหารปืนใหญ่ก็ได้กลายมาแพร่หลายเช่นกัน และการตรวจจับเสียงได้ถูกใช้เพื่อค้นหาปืนใหญ่ของข้าศึก
เยอรมนีนำหน้าฝ่ายสัมพันธมิตรไกลในการใช้การเล็งยิงจำลองหนัก กองทัพเยอรมันติดตั้งฮาวอิตเซอร์ขนาด 150 และ 210 มม. ใน ค.ศ. 1914 ขณะที่ปืนใหญ่ตามแบบของฝรั่งเศสและอังกฤษมีขนาดเพียง 75 และ 105 มม. อังกฤษมีฮาวอิตเซอร์ 152 มม. แต่มันหนักเสียจนต้องลำเลียงสู่สนามเป็นชิ้น ๆ และประกอบใหม่ ฝ่ายเยอรมันยังประจำปืนใหญ่ออสเตรีย 305 มม. และ 420 มม. และเมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้นนั้น ได้มีรายการมีเนนเวอร์เฟอร์ (Minenwerfer) หลายขนาดลำกล้องแล้ว ซึ่งเหมาะสำหรับการสงครามสนามเพลาะตามทฤษฎี[126]
การสู้รบมากครั้งข้องเกี่ยวกับการสงครามสนามเพลาะ ซึ่งทหารหลายร้อยนายเสียชีวิตในแผ่นดินแต่ละหลาที่ยึดได้ ยุทธการครั้งนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวนมากเกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยุทธการเหล่านั้นเช่น อีแปร มาร์น คัมไบร ซอมม์ แวร์เดิง และกัลลิโปลี ฝ่ายเยอรมันนำกระบวนการฮาเบอร์ซึ่งเป็นการตรึงไนโตรเจนมาใช้ เพื่อให้กำลังมีเสบียงดินปืนอย่างต่อเนื่อง แม้ฝ่ายอังกฤษจะทำการปิดล้อมทางทะเลก็ตาม[127] ปืนใหญ่เป็นเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด[128] และบริโภควัตถุระเบิดปริมาณมหาศาล การบาดเจ็บที่ศีรษะจำนวนมากเกิดขึ้นจากกระสุนปืนใหญ่ที่ระเบิดและการแตกกระจาย ทำให้ชาติที่เข้าร่วมสงครามต้องพัฒนาหมวกเหล็กกล้าสมัยใหม่ นำโดยฝรั่งเศส ซึ่งนำหมวกเอเดรียนมาใช้ใน ค.ศ. 1915 และต่อมาไม่นานอังกฤษและสหรัฐได้ใช้หมวกโบรดี และใน ค.ศ. 1916 โดยหมวกสทาลเฮล์มที่มีเอกลักษณ์ของเยอรมนี ซึ่งการออกแบบและการปรับปรุง ยังใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
การใช้การสงครามเคมีอย่างแพร่หลายเป็นคุณลักษณะเด่นเฉพาะของความขัดแย้งนี้ แก๊สที่ใช้มีคลอรีน แก๊สมัสตาร์ดและฟอสจีน มีผู้เสียชีวิตจากแก๊สในสงครามเพียงเล็กน้อย[129] เพราะมีวิธีการรับมือการโจมตีด้วยแก๊สที่มีประสิทธิภาพในเวลาอันรวดเร็ว เช่น หน้ากากกันแก๊ส ทั้งการใช้สงครามเคมีและการทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ขอบเขตเล็กนั้นถูกบัญญัติห้ามโดยอนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1907 และทั้งสองพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพจำกัด[130] แม้จะจับจินตนาการของสาธารณะก็ตาม
อาวุธติดตั้งภาคพื้นที่ทรงอานุภาพที่สุด คือ ปืนใหญ่รถไฟ (railway gun) ซึ่งแต่ละกระบอกหนักหลายร้อยตัน ปืนใหญ่เหล่านี้มีชื่อเล่นว่า บิกเบอร์ธา เยอรมนีได้พัฒนาปืนใหญ่ปารีส ซึ่งสามารถยิงถล่มกรุงปารีสจากพื้นที่ซึ่งห่างออกไปกว่า 100 กิโลเมตรได้ แม้กระสุนปืนใหญ่จะค่อนข้างเบา โดยมีน้ำหนัก 94 กิโลกรัม แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะมีปืนใหญ่รถไฟเช่นเดียวกับเยอรมนี แต่แบบของเยอรมันมีพิสัยไกลกว่าและเหนือชั้นกว่าของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างมาก
การบิน[แก้]
อากาศยานปีกตรึงมีการใช้ในทางทหารครั้งแรกโดยอิตาลีในลิเบียเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ระหว่างสงครามอิตาลี-ตุรกีเพื่อการลาดตระเวน ตามมาด้วยการทิ้งระเบิดมือและการถ่ายภาพทางอากาศในปีต่อมา เมื่อถึง ค.ศ. 1914 ประโยชน์ใช้สอยทางทหารของอากาศยานนั้นปรากฏชัด อากาศยานเหล่านี้เดิมทีใช้เพื่อการลาดตระเวนและโจมตีภาคพื้นดิน ในการยิงเครื่องบินฝ่ายข้าศึก จึงได้มีการพัฒนาปืนต่อสู้อากาศยานและเครื่องบินขับไล่ขึ้น เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ถูกผลิตขึ้น โดยเยอรมนีและอังกฤษเป็นหลัก แม้เยอรมนีจะใช้เซพเพลินด้วยเช่นกัน[131] เมื่อสงครามใกล้ยุติ เรือบรรทุกเครื่องบินจึงได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก
บอลลูนสังเกตการณ์ที่มีคนขับ ลอยสูงเหนือสนามเพลาะ ถูกใช้เป็นแท่นตรวจตราอยู่กับที่ คอยรายงานการเคลื่อนไหวของข้าศึกและชี้เป้าให้ปืนใหญ่ โดยทั่วไปบอลลูนมีลูกเรือสองคน และมีร่มชูชีพติดตัว[132] เผื่อหากมีการโจมตีทางอากาศของข้าศึก ร่มชูชีพจะสามารถกระโดดร่มออกมาได้อย่างปลอดภัย
เมื่อมีการตระหนักถึงคุณค่าของบอลลูนในฐานะแท่นสังเกตการณ์ บอลลูนจึงตกเป็นเป้าสำคัญขออากาศยานข้าศึก ในการป้องกันบอลลูนจากการโจมตีทางอากาศ บอลลูนจึงได้รับการป้องกันอย่างแน่นหนาโดยปืนต่อสู้อากาศยานและมีอากาศยานฝ่ายเดียวกันลาดตระเวน ในการโจมตี ได้มีการทดลองใช้อาวุธไม่ธรรมดาอย่างจรวดอากาศสู่อากาศ ดังนั้น คุณค่าการสังเกตการณ์ของเรือเหาะและบอลลูนจึงได้มีส่วนต่อการพัฒนาการสู้รบแบบอากาศสู่อากาศระหว่างอากาศยานทุกประเภท และต่อภาวะคุมเชิงกันในสนามเพลาะ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะเคลื่อนย้ายกำลังขนาดใหญ่ได้โดยไม่ถูกสังเกตพบ เยอรมนีดำเนินการตีโฉบฉวยทางอากาศต่ออังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1915 และ 1916 ด้วยเรือบิน โดยหวังว่าจะบั่นทอนขวัญกำลังใจของอังกฤษและส่งผลให้อากาศยานถูกเบี่ยงเบนไปจากแนวหน้า และที่จริง ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นตามมาได้นำไปสู่การเบี่ยงเบนฝูงเครื่องบินขับไหล่หลายฝูงจากฝรั่งเศส[131][133]
เทคโนโลยีนาวิก[แก้]
เยอรมนีวางเรืออู (เรือดำน้ำ) หลังสงครามอุบัติ โดยเปลี่ยนไปมาระหว่างการสงครามเรือดำน้ำจำกัดและไม่จำกัดในมหาสมุทรแอตแลนติก ไกเซอร์ลีเชอมารีนจัดวางเพื่อตัดทอนเสบียงสำคัญมิให้ไปถึงหมู่เกาะอังกฤษ การเสียชีวิตของกะลาสีเรือพาณิชย์อังกฤษและการที่เรืออูดูเหมือนอยู่คงกระพันนำไปสู่การพัฒนาทุ่นระเบิดน้ำลึก (ค.ศ. 1916), ไฮโดรโฟน (โซนาร์เชิงรับ, ค.ศ. 1917), เรือเหาะ (blimp), เรือดำน้ำล่าสังหาร (เรือหลวงอาร์-1, ค.ศ. 1917), อาวุธต่อสู้เรือดำน้ำโยนไปด้านหน้า และไฮโดรโฟนจุ่ม (สองอย่างนี้ถูกยกเลิกไปใน ค.. 1918) เพื่อขยายขอบเขตการปฏิบัติ เยอรมนีได้เสนอเรือดำน้ำเสบียง (ค.ศ. 1916) เทคโนโลยต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกลืมไปหลังสงครามยุติ ก่อนได้รับการรื้อฟื้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติ
เทคโนโลยีการสงครามภาคพื้น[แก้]
สนามเพลาะ ปืนกล การสอดแนมทางอากาศ รั้วลวดหนามและปืนใหญ่สมัยใหม่ซึ่งมีกระสุนลูกปรายมีส่วนให้แนวสู้รบของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไม่อาจเอาชนะกันได้เด็ดขาด อังกฤษมองหาทางออกด้วยการสร้างการสงครามรถถังและยานยนต์ขึ้น รถถังคันแรก ๆ ถูกใช้ระหว่างยุทธการซอมม์เมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1916 ความน่าเชื่อถือยานยนต์นั้นเป็นปัญหา แต่การทดลองพิสูจน์ถึงคุณค่าของมัน ภายในหนึ่งปี อังกฤษส่งรถถังเข้าสู่สนามรบหลายร้อยคัน และพวกมันได้แสดงแสงยานุภาพระหว่างยุทธการคัมไบรในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 ด้วยการเจาะแนวฮินเดนบูร์ก ขณะที่กำลังผสมจับกุมทหารข้าศึกเป็นเชลยได้ 8,000 นาย และยึดปืนใหญ่ได้ 100 กระบอก สงครามยังได้มีการนำอาวุธกลเบาและปืนกลมือ เช่น ปืนลิวอิส ไรเฟิลอัตโนมัติบราวนิง และเบิร์กทันน์ เอ็มเพ 18
ภายหลังสงคราม[แก้]
ประสบการณ์ของทหารผ่านศึก[แก้]
เพลง วีรกรรม (เสือเก่า) ในภาพยนตร์ไทยเรื่อง เป็ดน้อย ของอัศวินภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2511 บทพระนิพนธ์โดย เวตาล หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เล่าถึงประสบการณ์ของผู้บัญชาการกองยานยนต์สยาม ที่นำกองร้อยลำเลียงอาวุธและกระสุนฝ่าเข้าช่วยทหารฝ่ายสัมพันธมิตรสู้กับทหารลาดตระเวนเยอรมัน ตอนกลางคืนที่แนวหน้าของฝรั่งเศส จนฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ
ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและกำลังคน[แก้]
ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[แก้]
ภายหลังสงคราม ประเทศไทยได้แก้สนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมัน ฯลฯ ที่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติอีกด้วย
กองทหารไทยในดินแดนเยอรมนี[แก้]
สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2457 ไทยตั้งตัวเป็นกลาง จนกระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ไทยจึงได้ประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี และได้ส่งทหารอาสาสมัครไปช่วยรบ 1,284 คน ทั้งนี้รวมทั้งนายและพลทหาร สมทบกับนักเรียนไทยในนานาประเทศอีกประมาณ 400 คน รวมทหารอาสาสมัครทั้งหมดประมาณ 1,600 คน
ทหาร อาสาออกเดินทางเมื่อ พ.ศ. 2461 ถึงประเทศฝรั่งเศสอยู่ใต้บัญชาการของนายพล เปแตง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ไปปฏิบัติการในสมรภูมิประเทศฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม
ผลที่ไทยได้รับจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น มีความสำคัญดังนี้
- เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของประเทศ
- ได้รับเกียรติเข้าร่วมทำสนธิสัญญาแวร์ซาย
- เมื่อสงครามสงบได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกประเภทริเริ่มขององค์การสันนิบาตชาติ เป็นหลักประกันเอกราชและความปลอดภัยของประเทศ
- ได้แก้ไขสัญญาที่ทำไว้แต่รัชกาลที่ 4 เป็นผลสำเร็จ ยกเลิกสัญญาต่าง ๆ ที่ไทยทำกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี และทำสัญญากับประเทศต่าง ๆ ใหม่
- ได้ยึดทรัพย์จากเชลย
- เปลี่ยนธงชาติจากธงช้างเผือกมาเป็นธงไตรรงค์ เพื่อนำไปใช้ในกองทัพไทยที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- สร้างอนุสาวรีย์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ อนุสาวรีย์ทหารอาสา วงเวียน 22 กรกฎา สมาคมสหายสงคราม เป็นต้น
- มีการจัดทหารแบบยุโรป และเริ่มจัดตั้งกรมอากาศยานขึ้นเป็นครั้งแรก
ดูเพิ่ม[แก้]
ภาพยนตร์และวรรณกรรม[แก้]
ภาพยนตร์[แก้]
- ข่าวทหารอาสาสยามในฝรั่งเศส (2461 / 1918) บริษัทภาพยนตร์พัฒนากรจ้างตัวแทนในฝรั่งเศสถ่ายทำ ฉายที่โรงหนังพัฒนากร [134]
- สารคดีทหารไทยอาสาปราบฮั่น (2463 / 1920) ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ แสดงภารกิจทหารไทยในฝรั่งเศส[135]
- รบระหว่างรัก (2474 / 1931 ) ของหัสดินทร์ภาพยนตร์
- เลือดทหารไทย (2478 / 1935) ของกระทรวงกลาโหม-ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง
- รักสยามเท่าฟ้า (2551 / 2008) ของอาร์เอสฟิล์ม
- All Quiet on the Western Front (1930 ) ของยูนิเวอร์แซล และ (1979) ของไอทีซี แห่งอังกฤษ
- Waterloo Bridge (1931 ) ของยูนิเวอร์แซล และ (1940) ของเมโทร-โกลด์วิน-เมเยอร์
- Lawrence of Arabia (1962) ของเซอร์เดวิด ลีน
- Dr.Zhivago (1965) ของเซอร์เดวิด ลีน
- Ryan's Daughter (1970) ของเซอร์เดวิด ลีน
เพลง[แก้]
- วีรกรรม (เสือเก่า ) ภาณุพันธุ์ คำร้อง /เกษม มิลินทจินดา ทำนอง /วงดนตรีสมาน กาญจนะผลิน (ภาพยนตร์ เป็ดน้อย ,2511 / 1968)
เชิงอรรถ[แก้]
- ↑ Willmott 2003, pp. 10–11
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Willmott 2003, p. 15
- ↑ Keegan 1988, p. 8
- ↑ Bade & Brown 2003, pp. 167–168
- ↑ Joll 1992, pp. 10–38
- ↑ Willmott 2003, p. 307
- ↑ Willmott 2003, p. 307
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 Taylor 1998, pp. 80–93
- ↑ Djokić 2003, p. 24
- ↑ Evans 2004, p. 12
- ↑ Martel 2003, p. xii ff
- ↑ Keegan 1988, p. 7
- ↑ Keegan 1988, p. 11
- ↑ 14.0 14.1 Keegan 1998, p. 52
- ↑ 15.0 15.1 Willmott 2003, p. 21
- ↑ Prior 1999, p. 18
- ↑ Fromkin 2004, p. 94
- ↑ 18.0 18.1 Keegan 1998, pp. 48–49
- ↑ Willmott 2003, pp. 2–23
- ↑ Willmott 2003, p. 26
- ↑ Willmott 2003, p. 27
- ↑ Willmott 2003, p. 29
- ↑ "Daily Mirror Headlines: The Declaration of War, Published 4 August 1914". bbc.co.uk. สืบค้นเมื่อ 9 February 2010.
- ↑ Strachan 2003, pp. 292–296, 343–354
- ↑ Farwell 1989, p. 353
- ↑ Tucker & Roberts 2005, p. 172
- ↑ Tucker & Roberts 2005, pp. 376–8
- ↑ Keegan 1968, pp. 224–232
- ↑ Falls 1960, pp. 79–80
- ↑ Raudzens 1990, pp. 424
- ↑ Raudzens 1990, pp. 421–423
- ↑ Donald James Goodspeed, The German Wars 1914-1945 (N.Y., N.Y.: Bonanza Books, 1985), page 199 (footnote).
- ↑ Love 1996
- ↑ Duffy
- ↑ Tucker & Roberts 2005, p. 1221
- ↑ Tucker & Roberts 2005, p. 854
- ↑ Heer 2009, pp. 223–4
- ↑ Goodspeed 1985, p. 226
- ↑ Perry 1988, p. 27
- ↑ "Vimy Ridge, Canadian National Memorial" ([ลิงก์เสีย] - Scholar search), Australians on the Western Front 1914-1918 (New South Wales Department of Veteran's Affairs and Board of Studies), 2007
- ↑ Winegard, Timothy. "Here at Vimy: A Retrospective – The 90th Anniversary of the Battle of Vimy Ridge". Canadian Military Journal 8 (2). สืบค้นเมื่อ 2009-04-21.
- ↑ Taylor2007, pp. 39–47
- ↑ Keene 2006, pp. 5
- ↑ Halpern 1995, p. 293
- ↑ Zieger 2001, pp. 50
- ↑ Tucker & Roberts 2005, pp. 619–24
- ↑ 47.0 47.1 47.2 47.3 Sheffield, Garry, "The First Battle of the Atlantic", World Wars In Depth (BBC), สืบค้นเมื่อ 2009-11-11
- ↑ Gilbert 2004, p. 306
- ↑ von der Porten 1969
- ↑ Jones 2001, p. 80
- ↑ "Nova Scotia House of Assembly Committee on Veterans' Affairs", Hansard, สืบค้นเมื่อ 2007-10-30
- ↑ Roger Chickering, Stig Förster, Bernd Greiner, German Historical Institute (Washington, D.C.) (2005). "A world at total war: global conflict and the politics of destruction, 1937-1945". Cambridge University Press. p.73. ISBN 0-521-83432-5
- ↑ "The Balkan Wars and World War I". Library of Congress Country Studies.
- ↑ Neiberg 2005, pp. 54–55
- ↑ Tucker & Roberts 2005, pp. 1075–6
- ↑ Neiberg 2005, pp. 108–10
- ↑ Tucker, Wood & Murphy 1999, p. 120
- ↑ Pyrrhic victory: French strategy and operations in the Great War, Harvard University Press, 2005;, 2005, p. 491, ISBN 9780674018808, สืบค้นเมื่อ 2010-10-03
- ↑ 59.0 59.1 "The Balkan Front of the World War (in Russian)". militera.lib.ru. สืบค้นเมื่อ 2010-09-27.
- ↑ Fromkin 2001, p. 119
- ↑ 61.0 61.1 Hinterhoff 1984, pp. 499–503
- ↑ Sachar, pp. 122–138
- ↑ Gilbert 1994
- ↑ The Battles of the Isonzo, 1915-17, FirstWorldWar.com
- ↑ Battlefield Maps: Italian Front, FirstWorldWar.com
- ↑ Hickey 2003, pp. 60-65
- ↑ "The Battle of Marasti (July 1917)". WorldWar2.ro. 1917-07-22. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
- ↑ Cyril Falls, The Great War, p. 285
- ↑ Béla, Köpeczi, Erdély története, Akadémiai Kiadó
- ↑ Béla, Köpeczi, History of Transylvania, Akadémiai Kiadó, ISBN 848371020X
- ↑ Erlikman, Vadim (2004), Poteri narodonaseleniia v XX veke : spravochnik, Moscow, ISBN 5-93165-107-1
- ↑ Brown 1994, pp. 197–198
- ↑ Brown 1994, pp. 201–203
- ↑ Participants from the Indian subcontinent in the First World War, Memorial Gates Trust, สืบค้นเมื่อ 2008-12-12
- ↑ Tucker 2005, p. 715
- ↑ Meyer 2006, pp. 152–4, 161, 163, 175, 182
- ↑ 77.0 77.1 Smele
- ↑ Schindler 2003
- ↑ Wheeler-Bennett 1956
- ↑ Mawdsley 2008, pp. 54–55
- ↑ Kernek 1970, pp. 721–766
- ↑ Stracham (1998), p. 61
- ↑ Lyons 1999, p. 243
- ↑ Marshall, 292.
- ↑ Heyman 1997, pp. 146–147
- ↑ Kurlander 2006
- ↑ Shanafelt 1985, pp. 125–30
- ↑ Brands 1997, p. 756
- ↑ Karp 1979
- ↑ Tuchman 1966
- ↑ "Selective Service System: History and Records". Sss.gov. สืบค้นเมื่อ 2010-07-27.
- ↑ Wilgus, p. 52
- ↑ "African Americans during World War I".
- ↑ Millett & Murray 1988, p. 143
- ↑ Westwell 2004
- ↑ Posen 1984, pp. 190&191
- ↑ Gray 1991, p. 86
- ↑ 98.0 98.1 Moon 1996, pp. 495–196
- ↑ Rickard 2007
- ↑ 100.0 100.1 The Battle of Amiens: 8 August 1918, Australian War Memorial, สืบค้นเมื่อ 2008-12-12
- ↑ Amiens Map, Australian War Memorial, archived from the original on 2007-06-17, สืบค้นเมื่อ 2009-10-24 (archived 2007-06-17)
- ↑ Rickard 2001
- ↑ 103.0 103.1 Terraine 1963
- ↑ 104.0 104.1 104.2 Pitt 2003
- ↑ Maurice 1918
- ↑ 106.0 106.1 106.2 106.3 Gray & Argyle 1990
- ↑ Nicholson 1962
- ↑ Ludendorff 1919
- ↑ Jenkins 2009, p. 215
- ↑ McLellan, p. 49
- ↑ Gibbs 1918b
- ↑ Gibbs 1918a
- ↑ Stevenson 2004, p. 380
- ↑ Hull 2006, pp. 307–10
- ↑ Stevenson 2004, p. 383
- ↑ Stevenson 2004
- ↑ Clairière de l'Armistice (ใน French), Ville de Compiègne, สืบค้นเมื่อ 2008-12-03
- ↑ 118.0 118.1 "1918 Timeline". League of Nations Photo Archive. สืบค้นเมื่อ 2009-11-20.
- ↑ Lindsay, Robert, "The Last Hours", 28th (Northwest) Battalion Headquarters, สืบค้นเมื่อ 2009-11-20
- ↑ Gunther, Henry (Wednesday 29, 2008), [[BBC News|BBC Magazine]], สืบค้นเมื่อ 2012-12-06 Wikilink embedded in URL title (help)
- ↑ Tomas (February 15, 2010), [[11 Facts about the End of the Great War]], สืบค้นเมื่อ 2012-12-06 Wikilink embedded in URL title (help)
- ↑ Baker 2006
- ↑ Chickering 2004, pp. 185–188
- ↑ Hartcup 1988, p. 154
- ↑ Hartcup 1988, pp. 82–86
- ↑ Mosier 2001, pp. 42–48
- ↑ Harcup 1988
- ↑ Raudzens, p. 421
- ↑ Raudzens
- ↑ Heller 1984
- ↑ 131.0 131.1 Cross 1991
- ↑ Winter 1983
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีข้อความใดให้ไว้สำหรับอ้างอิงชื่อFullCircle
- ↑ โดม สุขวงศ์ ,สยามภาพยนตร์ ,หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน),2555 ISBN:978-616-543-173-6 หน้า 200
- ↑ สยามภาพยนตร์ หน้า 201
อ้างอิง[แก้]
- American Armies and Battlefields in Europe: A History, Guide, and Reference Book, U.S. Government Printing Office, 1938, OCLC 59803706
- Army Art of World War I, United States Army Center of Military History: Smithsonian Institution, National Museum of American History, 1993, OCLC 28608539
- Asghar, Syed Birjees (2005-06-12), A Famous Uprising, Dawn Group, archived from the original on 2007-08-03, สืบค้นเมื่อ 2007-11-02
- Ashworth, Tony (2000) [1980], Trench warfare, 1914–18 : the live and let live system, London: Pan, ISBN 0330480685, OCLC 247360122
- Bade, Klaus J; Brown, Allison (tr.) (2003), Migration in European History, The making of Europe, Oxford: Blackwell, ISBN 0631189394, OCLC 52695573 (translated from the German)
- Baker, Kevin (June 2006), "Stabbed in the Back! The past and future of a right-wing myth", Harper's Magazine
- Balakian, Peter (2003), The Burning Tigris: The Armenian Genocide and America's Response, New York: HarperCollins, ISBN 9780060198404, OCLC 56822108
- Ball, Alan M (1996), And Now My Soul Is Hardened: Abandoned Children in Soviet Russia, 1918–1930, Berkeley: University of California Press, ISBN 9780520206946, reviewed in Hegarty, Thomas J (March–June 1998), "And Now My Soul Is Hardened: Abandoned Children in Soviet Russia, 1918–1930", Canadian Slavonic Papers
- Bass, Gary Jonathan (2002), Stay the Hand of Vengeance: The Politics of War Crimes Tribunals, Princeton, New Jersey: Princeton University Press, pp. 424pp, ISBN 0691092788, OCLC 248021790
- Blair, Dale (2005), No Quarter: Unlawful Killing and Surrender in the Australian War Experience, 1915–1918, Charnwood, Australia: Ginninderra Press, ISBN 1740272919, OCLC 62514621
- Brands, Henry William (1997), T. R.: The Last Romantic, New York: Basic Books, ISBN 0465069584, OCLC 36954615
- Brown, Judith M. (1994), Modern India: The Origins of an Asian Democracy, Oxford and New York: Oxford University Press. Pp. xiii, 474, ISBN 0198731132.
- Chickering, Rodger (2004), Imperial Germany and the Great War, 1914–1918, Cambridge: Cambridge University Press, ISBN 0521839084, OCLC 55523473
- Clark, Charles Upson (1927), Bessarabia, Russia and Roumania on the Black Sea, New York: Dodd, Mead, OCLC 150789848
- Cockfield, Jamie H (1997), With snow on their boots : The tragic odyssey of the Russian Expeditionary Force in France during World War 1, Palgrave Macmillan, ISBN 0312220820
- Conlon, Joseph M, The historical impact of epidemic typhus (PDF), Montana State University, สืบค้นเมื่อ 2009-04-21
- Cook, Tim (2006), "The politics of surrender: Canadian soldiers and the killing of prisoners in the First World War", The Journal of Military History 70 (3): 637–665, doi:10.1353/jmh.2006.0158
- Cross, Wilbur L (1991), Zeppelins of World War I, New York: Paragon Press, ISBN 9781557783820, OCLC 22860189
- Djokić, Dejan (2003), Yugoslavism : histories of a failed idea, 1918-1992, London: Hurst, OCLC 51093251
- Dignan, Don K (February 1971), "The Hindu Conspiracy in Anglo-American Relations during World War I", The Pacific Historical Review (University of California Press) 40 (1): 57–76, ISSN 0030-8684, แม่แบบ:Jstor
- Doughty, Robert A. (2005), Pyrrhic victory: French strategy and operations in the Great War, Harvard University Press, ISBN 9780674018808
- Duffy, Michael, Somme, First World War.com, ISBN 0297846892, สืบค้นเมื่อ 25 February 2007
- Evans, David (2004), The First World War, Teach yourself, London: Hodder Arnold, ISBN 0340884894, OCLC 224332259
- Evans, Leslie (27 May 2005), Future of Iraq, Israel-Palestine Conflict, and Central Asia Weighed at International Conference, UCLA International Institute, สืบค้นเมื่อ 2008-12-30
- Falls, Cyril Bentham (1960), The First World War, London: Longmans, ISBN 1843422727, OCLC 460327352
- Farwell, Byron (1989), The Great War in Africa, 1914–1918, W.W. Norton, ISBN 9780393305647
- Ferguson, Niall (1999), The Pity of War, New York: Basic Books, pp. 563pp, ISBN 046505711X, OCLC 41124439
- Ferguson, Niall (2006), The War of the World: Twentieth-Century Conflict and the Descent of the West, New York: Penguin Press, ISBN 1594201005
- Findley, Carter Vaughn; Rothney, J.A. (2006), Twentieth Century World (6th ed.), Boston: Houghton Mifflin
- Fortescue, Granville Roland (28 October 1915), London in Gloom over Gallipoli; Captain Fortescue in Book and Ashmead-Bartlett in Lecture Declare Campaign Lost. Say Allies Can't Advance; Attack on Allied Diplomacy in Correspondent's Doleful Talk Passed by Censor, New York Times
- Fraser, Thomas G (April 1977), "Germany and Indian Revolution, 1914–18", Journal of Contemporary History (Sage Publications) 12 (2): 255–272, doi:10.1177/002200947701200203, ISSN 00220094
- Fromkin, David (2001), A Peace to End All Peace: The Fall of the Ottoman Empire and the Creation of the Modern Middle East, New York: Owl Books, p. 119, ISBN 0805068848, OCLC 53814831
- Fromkin, David (2004), Europe's Last Summer: Who Started the Great War in 1914?, New York: Alfred A. Knopf, ISBN 0375411569, OCLC 53937943
- Gelvin, James L (2005), The Israel-Palestine Conflict: One Hundred Years of War, Cambridge: Cambridge University Press, ISBN 0521852897, OCLC 59879560
- Gibbs, Phillip (26 October 1918 published 30 October 1918), "Fall of Ghent Near, German Flank in Peril", New York Times
- Gibbs, Phillip (15 November 1918), "Ghent Burghers Hail Liberators" (PDF), New York Times
- Gray, Randal; Argyle, Christopher (1990), Chronicle of the First World War, New York: Facts on File, ISBN 9780816025954, OCLC 19398100
- Gilbert, Martin (2004), The First World War: A Complete History, Clearwater, Florida: Owl Books, p. 306, ISBN 0805076174, OCLC 34792651
- Goodspeed, Donald James (1985), The German Wars 1914–1945, New York: Random House; Bonanza, ISBN 9780517467909
- Gray, Randal (1991), Kaiserschlacht 1918: the final German offensive, Osprey, ISBN 9781855321571
- Green, John Frederick Norman (1938), "Obituary: Albert Ernest Kitson", Geological Society Quarterly Journal (Geological Society) 94
- Haber, Lutz Fritz (1986), The Poisonous Cloud: Chemical Warfare in the First World War, Oxford: Clarendon, ISBN 0198581424, OCLC 12051072
- Halpern, Paul G (1995), A Naval History of World War I, New York: Routledge, ISBN 1857284984, OCLC 60281302
- Harrach, Franz, "Archduke Franz Ferdinand's Assassination, 28 June 1914: Memoir of Count Franz von Harrach", Primary Documents (First World War.com)
- Hartcup, Guy (1988), The War of Invention; Scientific Developments, 1914–18, Brassey's Defence Publishers, ISBN 0-08-033591-8
- Havighurst, Alfred F (1985), Britain in transition: the twentieth century (4 ed.), University of Chicago Press, ISBN 9780226319711
- Heer, Germany (2009), German and Austrian Tactical Studies, ISBN 9781110765164
- Heller, Charles E (1984), Chemical warfare in World War I : the American experience, 1917–1918, Fort Leavenworth, Kansas: Combat Studies Institute, OCLC 123244486
- Herbert, Edwin (2003), Small Wars and Skirmishes 1902–1918: Early Twentieth-century Colonial Campaigns in Africa, Asia and the Americas, Nottingham: Foundry Books Publications, ISBN 1901543056
- Heyman, Neil M (1997), World War I, Guides to historic events of the twentieth century, Westport, Connecticut: Greenwood Press, ISBN 0313298807, OCLC 36292837
- Hickey, Michael (2003), The Mediterranean Front 1914–1923, The First World War 4, New York: Routledge, pp. 60–65, ISBN 0415968445, OCLC 52375688
- Hinterhoff, Eugene (1984), "The Campaign in Armenia", in Young, Peter, Marshall Cavendish Illustrated Encyclopedia of World War I (New York: Marshall Cavendish) ii, ISBN 0863071813
- Hooker, Richard (1996), The Ottomans, Washington State University, สืบค้นเมื่อ 2008-12-30
- Hoover, Herbert; Wilson, Woodrow (1958), Ordeal of Woodrow Wilson, New York: McGraw-Hill, ISBN 0943875412, OCLC 254607345
- Hughes, Thomas L (October 2002), "The German Mission to Afghanistan, 1915–1916", German Studies Review (German Studies Association) 25 (3): 447–476, doi:10.2307/1432596, ISSN 01497952, JSTOR 1432596
- Hull, Isabel Virginia (2006), Absolute destruction: military culture and the practices of war in Imperial Germany, Cornell University Press, ISBN 9780801472930
- Isaac, Jad; Hosh, Leonardo (7–9 May 1992), Roots of the Water Conflict in the Middle East, University of Waterloo, archived from the original on 2006-09-28
- Jenkins, Burris A (2009), Facing the Hindenburg Line, BiblioBazaar, ISBN 9781110812387
- Johnson, Douglas Wilson (1921), Battlefields of the World War, Western and Southern Fronts, New York: Oxford University Press, ISBN 1432637398, OCLC 688071 Unknown parameter
|series-editor=
ignored (help); Unknown parameter|series-title=
ignored (help) - Johnson, James Edgar (2001), Full Circle: The Story of Air Fighting, London: Cassell, ISBN 0304358606, OCLC 45991828
- Jones, Howard (2001), Crucible of Power: A History of U. S. Foreign Relations Since 1897, Wilmington, Delaware: Scholarly Resources Books, ISBN 0842029184, OCLC 46640675
- Kaplan, Robert D (February 1993), "Syria: Identity Crisis", The Atlantic, สืบค้นเมื่อ 2008-12-30
- Karp, Walter (1979), The Politics of War (1st ed.), ISBN 006012265X, OCLC 4593327, Wilson's maneuvering U.S. into war
- Keegan, John (1998), The First World War, Hutchinson, ISBN 0091801788, general military history
- Keene, Jennifer D (2006), World War I, Westport, Connecticut: Greenwood Press, p. 5, ISBN 0313331812, OCLC 70883191 Unknown parameter
|seriestitle=
ignored (help) - Kennedy, David M (2004), Over here: the First World War and American society, Oxford University Press, ISBN 9780195173994
- Kernek, Sterling (December 1970), "The British Government's Reactions to President Wilson's 'Peace' Note of December 1916", The Historical Journal 13 (4), แม่แบบ:Jstor
- Keynes, John Maynard (1920), The Economic Consequences of the Peace, New York: Harcourt, Brace and Howe, ISBN 0521220955, OCLC 213487540
- Kitchen, Martin (2000) [1980], Europe Between the Wars, New York: Longman, ISBN 0582418690, OCLC 247285240
- Knobler, Stacey L, ed. (2005), The Threat of Pandemic Influenza: Are We Ready? Workshop Summary, Washington DC: National Academies Press, ISBN 0309095042, OCLC 57422232
- Kurlander, Eric (2006), Steffen Bruendel. Volksgemeinschaft oder Volksstaat: Die "Ideen von 1914" und die Neuordnung Deutschlands im Ersten Weltkrieg (Book review), H-net, สืบค้นเมื่อ 2009-11-17
- Lehmann, Hartmut; van der Veer, Peter, eds. (1999), Nation and religion: perspectives on Europe and Asia, Princeton, New Jersey: Princeton University Press, ISBN 0691012326, OCLC 39727826
- Lewy, Guenter (2005), The Armenian Massacres in Ottoman Turkey: A Disputed Genocide, Salt Lake City, Utah: University of Utah Press, ISBN 0874808499, OCLC 61262401
- Love, Dave (May 1996), "The Second Battle of Ypres, April 1915", Sabretasche 26 (4)
- Lyons, Michael J (1999), World War I: A Short History (2nd ed.), Prentice Hall, ISBN 0130205516
- Ludendorff, Erich (1919), My War Memories, 1914–1918, OCLC 60104290 also published by Harper as "Ludendorff's Own Story, August 1914 – November 1918: The Great War from the Siege of Liege to the Signing of the Armistice as Viewed from the Grand Headquarters of the German Army" OCLC 561160 (original title Meine Kriegserinnerungen, 1914–1918)
- Magliveras, Konstantinos D (1999), Exclusion from Participation in International Organisations: The Law and Practice behind Member States' Expulsion and Suspension of Membership, Martinus Nijhoff Publishers, ISBN 9041112391
- Maurice, Frederick Barton (18 August 1918), "Foe's reserves now only 16 divisions; Allies' Counteroffensive has reduced them from 60, Gen. Maurice says Ludendorff in dilemma; he must choose between giving up offensive projects and shortening his line", New York Times
- Martel, Gordon (2003), The Origins of the First World War, Pearson Longman, Harlow
- Mawdsley, Evan (2008), The Russian Civil War (Edinburgh ed.), Birlinn location, ISBN 1843410419
- McDermott, T. P., USA's Boy Scouts and World War I Liberty Loan Bonds
- McLellan, Edwin N, The United States Marine Corps in the World War
- Meyer, Gerald J (2006), A World Undone: The Story of the Great War 1914 to 1918, Random House, ISBN 9780553803549
- Millett, Allan Reed; Murray, Williamson (1988), Military Effectiveness, Boston: Allen Unwin, ISBN 0044450532, OCLC 220072268
- Moon, John Ellis van Courtland (July 1996), "United States Chemical Warfare Policy in World War II: A Captive of Coalition Policy?", The Journal of Military History (Society for Military History) 60 (3): 495–511, doi:10.2307/2944522, JSTOR 2944522, แม่แบบ:Jstor
- Morton, Desmond; Granatstein, Jack L (1989), Marching to Armageddon: Canadians and the Great War 1914–1919, ISBN 0886192099, OCLC 21449019
- Morton, Desmond (1992), Silent Battle: Canadian Prisoners of War in Germany, 1914–1919, Toronto: Lester Publishing, ISBN 1895555175, OCLC 29565680
- Mosier, John (2001), "Germany and the Development of Combined Arms Tactics", Myth of the Great War: How the Germans Won the Battles and How the Americans Saved the Allies, New York: Harper Collins, ISBN 0060196769
- Muller, Jerry Z (March/April 2008), "Us and Them – The Enduring Power of Ethnic Nationalism", Foreign Affairs (Council on Foreign Relations), สืบค้นเมื่อ 2008-12-30
- Neiberg, Michael S (2005), Fighting the Great War: A Global History, Cambridge, Mass: Harvard University Press, ISBN 0674016963, OCLC 56592292
- Nicholson, Gerald WL (1962), Canadian Expeditionary Force, 1914–1919: Official History of the Canadian Army in the First World War (1st ed.), Ottawa: Queens Printer and Controller of Stationary, OCLC 2317262
- Northedge, FS (1986), The League of Nations: Its Life and Times, 1920–1946, New York: Holmes & Meier, ISBN 0718513169
- Page, Thomas Nelson, Italy and the World War, Brigham Young University, Chapter XI cites "Cf. articles signed XXX in La Revue de Deux Mondes, March 1 and March 15, 1920"
- Perry, Frederick W (1988), The Commonwealth armies: manpower and organisation in two world wars, Manchester University Press, ISBN 9780719025952
- Phillimore, George Grenville; Bellot, Hugh HL (1919), "Treatment of Prisoners of War", Transactions of the Grotius Society 5: 47–64, OCLC 43267276
- Pitt, Barrie (2003), 1918: The Last Act, Barnsley: Pen and Sword, ISBN 0850529743, OCLC 56468232
- Price, Alfred (1980), Aircraft versus Submarine: the Evolution of the Anti-submarine Aircraft, 1912 to 1980, London: Jane's Publishing, ISBN 0710600089, OCLC 10324173 Deals with technical developments, including the first dipping hydrophones
- Prior, Robin (1999), The First World War, London: Cassell, ISBN 030435256X
- Raudzens, George (October 1990), "War-Winning Weapons: The Measurement of Technological Determinism in Military History", The Journal of Military History (Society for Military History) 54 (4): 403–434, doi:10.2307/1986064, JSTOR 1986064, แม่แบบ:Jstor
- Repington, Charles à Court (1920), The First World War, 1914–1918 2, London: Constable, ISBN 1113197641
- Rickard, J (5 March 2001), "Erich von Ludendorff, 1865–1937, German General", Military History Encyclopedia on the Web (HistoryOfWar.org), สืบค้นเมื่อ 2008-02-06
- Rickard, J (27 August 2007), The Ludendorff Offensives, 21 March-18 July 1918
- Roden, Mike, "The Lost Generation – myth and reality", Aftermath – when the boys came home, สืบค้นเมื่อ 2009-11-06
- Ross, Stewart Halsey (1996), Propaganda for War: How the United States was Conditioned to Fight the Great War of 1914–1918, Jefferson, North Carolina: McFarland, ISBN 0786401117, OCLC 185807544
- Saadi, Abdul-Ilah, Dreaming of Greater Syria, Al Jazeera English, สืบค้นเมื่อ 2009-11-17
- Sachar, Howard Morley (1970), The emergence of the Middle East, 1914–1924, Allen Lane, ISBN 0713901586, OCLC 153103197
- Safire, William (2008), Safire's Political Dictionary, Oxford University Press, ISBN 9780195343342
- Salibi, Kamal Suleiman (1993), "How it all began – A concise history of Lebanon", A House of Many Mansions – the history of Lebanon reconsidered, I.B. Tauris, ISBN 1850430918, OCLC 224705916
- Schindler, J (2003), "Steamrollered in Galicia: The Austro-Hungarian Army and the Brusilov Offensive, 1916", War in History 10 (1): 27–59, doi:10.1191/0968344503wh260oa
- Shanafelt, Gary W (1985), The secret enemy: Austria-Hungary and the German alliance, 1914–1918, East European Monographs, ISBN 9780880330800
- Shapiro, Fred R; Epstein, Joseph (2006), The Yale Book of Quotations, Yale University Press, ISBN 0300107986
- Singh, Jaspal, History of the Ghadar Movement, panjab.org.uk, สืบค้นเมื่อ 2007-10-31
- Sisemore, James D (2003), The Russo-Japanese War, Lessons Not Learned, U.S. Army Command and General Staff College
- Smele, Jonathan, "War and Revolution in Russia 1914–1921", World Wars in-depth (BBC), สืบค้นเมื่อ 2009-11-12
- Speed, Richard B, III (1990), Prisoners, Diplomats and the Great War: A Study in the Diplomacy of Captivity, New York: Greenwood Press, ISBN 0313267294, OCLC 20694547
- Stevenson, David (1996), Armaments and the Coming of War: Europe, 1904–1914, New York: Oxford University Press, ISBN 0198202083, OCLC 33079190
- Stevenson, David (2004), Cataclysm: The First World War As Political Tragedy, New York: Basic Books, pp. 560pp, ISBN 0465081843, OCLC 54001282, major reinterpretation
- Stevenson, David (2005), The First World War and International Politics, Oxford: Clarendon, OCLC 248297941
- Gilbert, Martin (1994), First World War, Stoddart Publishing, ISBN 9780773728486
- Strachan, Hew (2004), The First World War: Volume I: To Arms, New York: Viking, ISBN 0670032956, OCLC 53075929: the major scholarly synthesis. Thorough coverage of 1914
- Strachan, Hew (1998), The Oxford Illustrated History of the First World War, New York: Oxford University Press, ISBN 0198206143
- Stumpp, Karl; Weins, Herbert; Smith, Ingeborg W (trans) (1997), A People on the Move: Germans in Russia and in the Former Soviet Union: 1763–1997, North Dakota State University Libraries Unknown parameter
|orig-title=
ignored (help) - Swietochowski, Tadeusz (2004), Russian Azerbaijan, 1905–1920: The Shaping of a National Identity in a Muslim Community 42, Cambridge University Press, ISBN 9780521522458 Unknown parameter
|series-title=
ignored (help), reviewed at แม่แบบ:Jstor - Taylor, Alan John Percivale (1963), The First World War: An Illustrated History, Hamish Hamilton, OCLC 2054370
- Taylor, Alan John Percivale (1998), The First World War and its aftermath, 1914–1919, London: Folio Society, OCLC 49988231 Unknown parameter
|series-title=
ignored (help) - Taylor, John M (Summer 2007), "Audacious Cruise of the Emden", The Quarterly Journal of Military History 19 (4): 38–47, doi:10.1353/jmh.2007.0331 (inactive 2010-07-26), ISSN 0899-3718
- Terraine, John (1963), Ordeal of Victory, Philadelphia: Lippincott, pp. 508pp, OCLC 1345833
- Tschanz, David W, Typhus fever on the Eastern front in World War I, Montana State University, สืบค้นเมื่อ 2009-11-12
- Tuchman, Barbara Wertheim (1962), The Guns of August, New York: Macmillan, OCLC 192333, tells of the opening diplomatic and military manoeuvres
- Tuchman, Barbara Wertheim (1966), The Zimmerman Telegram (2nd ed.), New York: Macmillan, ISBN 0026203200, OCLC 233392415
- Tucker, Spencer C (1999), European Powers in the First World War: An Encyclopedia, ISBN 081533351X, OCLC 40417794
- Tucker, Spencer C; Roberts, Priscilla Mary (2005), Encyclopedia of World War I, Santa Barbara: ABC-Clio, ISBN 1851094202, OCLC 61247250
- Tucker, Spencer C; Wood, Laura Matysek; Murphy, Justin D (1999), The European powers in the First World War: an encyclopedia, Taylor & Francis, ISBN 9780815333517
- von der Porten, Edward P (1969), German Navy in World War II, New York: T. Y. Crowell, ISBN 021317961X, OCLC 164543865
- Westwell, Ian (2004), World War I Day by Day, St. Paul, Minnesota: MBI Publishing, pp. 192pp, ISBN 0760319375, OCLC 57533366
- Wilgus, William John (1931), Transporting the A. E. F. in Western Europe, 1917–1919, New York: Columbia University Press, OCLC 1161730
- Willmott, H.P. (2003), World War I, New York: Dorling Kindersley, ISBN 0789496275, OCLC 52541937
- Winegard, Timothy, "Here at Vimy: A Retrospective – The 90th Anniversary of the Battle of Vimy Ridge", Canadian Military Journal 8 (2)
- Winter, Denis (1983), The First of the Few: Fighter Pilots of the First World War, Penguin, ISBN 9780140052565
- Wohl, Robert (1979), The Generation of 1914 (3 ed.), Harvard University Press, ISBN 9780674344662
- Zieger, Robert H (2001), America's Great War: World War I and the American experience, Lanham, Maryland: Rowman & Littlefield, p. 50, ISBN 0847696456
- "Country Briefings: Israel", The Economist, 28 July 2005, สืบค้นเมื่อ 2008-12-30
- Israeli Foreign Ministry, Ottoman Rule, Jewish Virtual Library, สืบค้นเมื่อ 2008-12-30
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- มัลติมีเดียประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- มรดกของสงคราม, เนเธอร์แลนด์
- บริการแบบสอบถามสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ มหาวิทยาลัย Gettysburg
- ภาพถ่ายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- เอกสารสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- แผนที่ของสงคราม